Skip to Content

รายจ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายเงินรางวัลจากการขายให้กับคณะกรรมการบริหารและนโยบาย

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายเงินรางวัลจากการขายให้กับคณะกรรมการบริหารและนโยบาย


ข้อเท็จจริง

ลูกค้าของสำนักงานฯ คือ บริษัท A จำกัด ประกอบกิจการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม

ประเภทต่าง ๆ เช่น เบียร์ น้ำโซดา และน้ำดื่ม ภายใต้เครื่องหมายการค้า “AAA” บริษัทฯ มีปัญหา

เกี่ยวกับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีการนำค่าใช้จ่ายประเภทเงินรางวัลจากการขายตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ หักเป็นค่าใช้จ่าย

ของบริษัทฯ ดังนี้

1 คณะกรรมการ การบริหารและนโยบาย (Executive Committee) มีอำนาจและ

หน้าที่ในการกำหนดกลยุทธ์ นโยบายและแผนงานทางธุรกิจ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการ

อำนวยการ การสั่งการ และการตรวจสอบควบคุมกำกับ เพื่อให้ฝ่ายงานต่าง ๆ ในบริษัทฯ ปฏิบัติงาน

เป็นไปตามกลยุทธ์และนโยบายแผนงานหรือเป้าหมายที่วางไว้ไปในแนวทางเดียวกันและเป็นเอกภาพ

โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายในการสร้างรายได้จากยอดขายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “AAA”ให้มี

ส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจเบียร์และน้ำโซดาเป็นอันดับที่ 1 ตลอดไป

2 ระเบียบการและข้อบังคับของบริษัทฯ ได้กำหนดเงื่อนไขว่า หากการทำงานของ

คณะกรรมการฯ สามารถทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “AAA” ได้

เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าเป้าการขายที่กำหนด บริษัทฯ จะจ่ายบำเหน็จรางวัลตอบแทนแก่คณะกรรมการฯ

ในอัตราร้อยละของยอดขายสินค้าจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละ 1.9 ของยอดรายได้จากการขายนั้น การ

จ่ายเงินรางวัลจากการขายตามหลักเกณฑ์ข้างต้นบริษัทฯ จะจ่ายภายในปีถัดไปของรอบระยะเวลาบัญชีที่มี

การคำนวณเงินรางวัลจากการขาย

3 เนื่องจากรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2540 และ 2541 เป็นช่วงเกิดปัญหาวิกฤต

เศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องตั้งบัญชีค้างจ่ายเงินรางวัลจากการขาย

ดังกล่าวไว้ เพื่อเป็นการรักษาสภาพคล่องกระแสเงินสดสำหรับการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมให้แก่

สถาบันการเงินในประเทศ และต่างประเทศเพื่อรักษาเครดิตบริษัทฯ มิให้เป็นลูกหนี้ NPL และใน

ระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยเรื่องการจ่ายเงินได้ดังกล่าวกำหนดไว้ว่าในกรณีที่บริษัทฯ บันทึกบัญชี

เงินรางวัลจากการขายตั้งค้างจ่ายไว้เป็นระยะเวลานานเกินกว่า 3 รอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกัน บริษัท

ฯ ต้องเสียค่าปรับให้แก่คณะกรรมการฯ โดยบริษัทฯ ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำประเภท

หนึ่งปีตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์กำหนดจ่ายให้กับผู้ฝากทั่วไป

สำนักงานฯ จึงขอทราบว่า

1. ค่าใช้จ่ายเงินรางวัลจากการขาย ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา

65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่

2. ค่าใช้จ่ายเงินรางวัลจากการขาย ซึ่งบริษัทฯ มีข้อผูกพันในการจ่ายแน่นอน แต่บริษัทฯ

ได้ตั้งบันทึกบัญชีค้างจ่ายไว้ไม่เกินสามรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว อันเนื่องมาจากปัญหาการรักษา

สภาพคล่องกระแสเงินสดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อ

เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (9), (13), (19)

แนววินิจฉัย

1 เงินรางวัลจากการขายตามข้อเท็จจริงข้างต้น ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือกิจการ

โดยเฉพาะ และการจ่ายเงินดังกล่าวไม่ได้กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว

ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธินำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี

(13) และ (19) แห่งประมวลรัษฎากร

2 กรณีบริษัทฯ บันทึกบัญชีในระบบเกณฑ์สิทธิ และได้บันทึกค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 เป็นรายจ่าย

ค้างจ่ายไว้เนื่องมาจากการรักษาสภาพคล่องกระแสเงินสดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อค่าใช้จ่าย

ดังกล่าวเป็นกรณีที่บริษัทฯ มีข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายให้แก่คณะกรรมการการบริหารและนโยบาย

(Executive Committee) แน่นอนอยู่แล้ว ประกอบกับบริษัทฯ ได้จ่ายเงินดังกล่าวมาหลาย

รอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทฯ จึงมีสิทธิถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย

ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร

อนึ่ง กรณีบริษัทฯ ได้ตั้งบันทึกบัญชีค้างจ่ายไว้ดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าการจ่ายเงินดังกล่าว

บริษัทฯ ยังไม่หลุดพ้นจากภาระผูกพันในการที่จะต้องจ่ายเงินนั้น บริษัทฯ ไม่ต้องนำรายจ่ายค้างจ่ายนั้นมา

บวกกลับเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/2705 ลงวันที่ 04 เมษายน 2543

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)