รายจ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าใช้จ่ายผลขาดทุนจากเงินลงทุน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าใช้จ่ายผลขาดทุนจากเงินลงทุนข้อเท็จจริงบริษัทจำกัด(บริษัท ก) ประกอบกิจการขายรถยนต์ ขายอะไหล่ และบริการซ่อมรถยนต์ มีรอบระยะเวลาบัญชีตามปีปฏิทิน เมื่อปี พ.ศ. 2538 บริษัท ก ได้นำเงินไปลงทุนโดยการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดอีกแห่งหนึ่ง (บริษัท ข) ซึ่งมีทุนจดทะเบียน จำนวน 100,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 10,000,000 หุ้น หุ้นละ 10 บาท โดยบริษัท ก ได้เข้าชื่อซื้อหุ้นไว้ จำนวน 3,000,000 หุ้น ชำระค่าหุ้นครั้งแรกในราคาหุ้นละ 3 บาท ต่อมาภายหลังบริษัท ข ได้มีมติเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นส่วนที่เหลือในราคาหุ้นละ 7 บาท รวมเป็นเงินค่าหุ้นที่บริษัท ก ต้องชำระให้แก่บริษัท ข เป็นจำนวน 21,000,000 บาท แต่เนื่องจากบริษัท ก มีความจำเป็นต้องนำเงินไปใช้ในการก่อสร้างสาขาเพิ่มเติมประกอบกับประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน บริษัท ก จึงยังมิได้ชำระค่าหุ้นส่วนที่เหลือให้แก่บริษัท ข อย่างใด ต่อมาบริษัท ข ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2547 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัท ข ฟื้นฟูกิจการ ต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ข และให้บริษัท ข เป็นผู้บริหารแผน โดยแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบได้กำหนดให้บริษัท ข ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างทุน ดังนี้ (ก) ให้ลดทุนจดทะเบียนจากเดิม 100,000,000 บาท เป็น 70,000,000 บาท โดยการลดมูลค่าหุ้นสามัญ จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 7 บาท (ข) ลดทุนโดยการลดจำนวนหุ้นสามัญ (ที่ไม่มีการชำระค่าหุ้น) จากเดิมจำนวน 10,000,000 หุ้น เป็นจำนวน 2,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 7 บาท ทุนจดทะเบียนจากเดิมจำนวน 70,000,000 บาท จึงเป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 14,000,000 บาท เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท ข ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการข้างต้น ต่อมาบริษัท ข ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัท ก ทราบว่า บริษัท ข ได้จดทะเบียนลดทุนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท และนายทะเบียนได้เพิกถอนบริษัท ก จากการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ข แล้ว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548 บริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1. บริษัท ก มีสิทธินำผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างทุนของบริษัท ข ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบ และบริษัท ข ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว โดยนายทะเบียนได้เพิกถอนบริษัท ก จากการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ข แล้ว มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ อย่างไร 2. กรณีบริษัท ก มีสิทธินำผลเสียหายจากการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างทุนของบริษัทข ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ บริษัท ก จะต้องนำมาถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและนายทะเบียนได้เพิกถอนบริษัท ก จากการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ข แล้ว ใช่หรือไม่ อย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรี (12) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ข ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 บรรดาสิทธิตามกฎหมายของบริษัท ก ผู้ถือหุ้นเป็นอันระงับลง เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล ตามมาตรา 90/21 และมาตรา 90/25 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยบริษัท ข ผู้บริหารแผนไม่ต้องนำความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่ว่าด้วยการเพิ่มทุนและลดทุนมาใช้บังคับแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/42 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และโดยผลของการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างทุนดังกล่าว จึงถือว่าบริษัท ก ได้ขาดจากความเป็นผู้ถือหุ้นนับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและไม่มีทรัพย์สินประเภทเงินลงทุนหรือหุ้นในบริษัท ข อีกแต่อย่างใด บริษัท ก จึงหมดสิทธิเรียกร้องมูลค่าหุ้นอีกต่อไป ถือได้ว่าบริษัท ก ได้รับความเสียหายเนื่องจากการลงทุนในบริษัท ข บริษัท ก จึงสามารถนำผลเสียหายดังกล่าวมาลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4887 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 |