Skip to Content

รายจ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าตรวจสอบบัญชีบริษัทร่วม

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าตรวจสอบบัญชีบริษัทร่วม


ข้อเท็จจริง

ตามที่บริษัท ท.ได้ถือหุ้นบริษัทรวมสองแห่ง โดยถือหุ้นในแต่ละแห่งในอัตราร้อยละ 30 ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้จ่ายค่าตรวจสอบบัญชีส่วนหนึ่งแทนบริษัททั้งสองแห่ง โดยค่าตรวจสอบบัญชีดังกล่าว ได้แก่

1. ค่าตรวจสอบบัญชีรายไตรมาส เป็นค่าตรวจสอบบัญชีสำหรับการตรวจสอบงบการเงินรายไตรมาส ซึ่งตามความเป็นจริงบริษัทร่วมทั้งสองแห่งไม่ใช่บริษัทมหาชน จึงไม่ต้องมีการตรวจสอบงบการเงินรายไตรมาส แต่ผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทฯ ต้องการความเชื่อมั่นในการออกงบการเงินรวมรายไตรมาสของบริษัทฯ ซึ่งงบการเงินรวมของบริษัทฯ ต้องใช้ตัวเลขของงบการเงินบริษัทร่วมทั้งสองแห่งมารวมเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินบริษัทฯ ด้วย จึงจำเป็นต้องตรวจสอบบริษัทร่วมทั้งสอง ด้วยเหตุนี้บริษัทร่วมจึงเห็นว่า บริษัทฯ ควรเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบงบการเงินรายไตรมาสทั้งหมด

2. ค่าตรวจสอบบัญชีประจำปี เนื่องจากบริษัทฯ ต้องการให้บริษัทร่วมแห่งหนึ่งเปลี่ยนสำนักงานตรวจสอบบัญชี จากสำนักงานตรวจสอบบัญชีรายย่อยมาเป็นสำนักงานที่มีชื่อเสียง และเป็นสำนักงานเดียวกันกับที่บริษัทฯ ใช้บริการอยู่เพื่อให้การแสดงรายการงบการเงินรวมของบริษัทฯ มีมาตรฐานเดียวกันและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น จากการเปลี่ยนผู้สอบบัญชีดังกล่าว ทำให้บริษัทร่วมมีค่าสอบบัญชีที่สูงขึ้น โดยบริษัทฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มดังกล่าว        บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ค่าตรวจสอบบัญชีรายไตรมาสและส่วนเพิ่มของค่าตรวจสอบบัญชีประจำปีที่บริษัทฯ ออกแทนบริษัทร่วมสามารถถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ ได้หรือไม


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ เป็นบริษัทมหาชน จะต้องนำผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมในส่วนที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่มาแสดงในงบการเงินของบริษัทฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ค่าตรวจสอบบัญชีรายไตรมาสที่บริษัทฯ จ่ายไปถือเป็นรายจ่ายเพื่อประโยชน์ของกิจการหากำไรไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว จึงมีสิทธินำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีตาม 2. การที่บริษัทร่วมได้เปลี่ยนสำนักงานตรวจสอบบัญชีทำให้มีค่าสอบบัญชีที่สูงขึ้น โดยบริษัทฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ นำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/7043 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)