รายจ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณรายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณรายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลข้อเท็จจริงบริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์และมีรายได้เป็นดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน โดยการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะรับรู้รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใน รอบระยะเวลาบัญชีแม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามเกณฑ์สิทธิ์ สำหรับ การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์จากการให้กู้ยืมเงิน บริษัทฯ จะรับรู้รายรับตามเกณฑ์เงินสด บริษัทฯ ขอทราบว่า 1. รายได้ดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินที่บริษัทฯ บันทึกเป็นรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ์ และนำส่ง ภาษีธุรกิจเฉพาะตามส่วนที่ได้รับจริง (เกณฑ์เงินสด) ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวจะถือเป็นรายจ่ายใน การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ได้ หรือไม่ 2. รายได้ดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินที่บริษัทฯ บันทึกเป็นรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ์ แต่ยังมิได้ นำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะเนื่องจากยังไม่ได้รับชำระ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่ยังมิได้จ่ายดังกล่าว จะถือเป็น รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีใด กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65, มาตรา 65 ตรีแนววินิจฉัยการคำนวณรายได้รายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น บริษัทฯ จะต้องใช้เกณฑ์สิทธิ์ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้ ตามมาตรา 65 วรรคสอง และวรรคสาม แห่ง ประมวลรัษฎากร และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่บริษัทฯ พึงต้องจ่ายย่อมถือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้าม ตาม มาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น 1. กรณีตาม 1 ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่ถึงกำหนดชำระ และบริษัทฯ ได้จ่ายไปแล้ว บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิ์ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้อง เสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นได้ 2. กรณีตาม 2 ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาต้องชำระ และ บริษัทฯ ยังไม่ ได้จ่ายตามข้อเท็จจริง จะนำมาถือเป็นรายจ่ายยังไม่ได้ บริษัทฯ จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/05531 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2542 |