Skip to Content

รายจ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชำระค่าบริหารการจัดการและค่าปรึกษาทางวิศวกรรม

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชำระค่าบริหารการจัดการและค่าปรึกษาทางวิศวกรรม


ข้อเท็จจริง

1. ข้อมูลทั่วไป

1.1 กิจการร่วมค้าฯ จัดตั้งขึ้นตามสัญญากิจการร่วมค้า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2546 ประกอบด้วย ผู้ร่วมค้า 2 ราย คือ บริษัท ก. (บริษัทฯ ) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย และ A. เป็น นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อรับจ้างก่อสร้างโครงการสร้างสะพาน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณห้าแยกปากเกร็ดและถนนเชื่อมต่อ สัญญาที่ 1 แนวตะวันออก - ตะวันตก ณ จังหวัดนนทบุรี (โครงการฯ) และมีสัญญาร่วมเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ในโครงการเดียวกันอีก 3 สัญญา ปัจจุบันโครงการฯ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

1.2 การดำเนินงานตามสัญญาของกิจการร่วมค้าฯ ผู้ร่วมค้าทั้งสอง ในฐานะผู้รับเหมาของโครงการ จะร่วมกันดำเนินงานและรับผิดชอบงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อผู้ว่าจ้าง และปันส่วนความรับผิดชอบในงาน ความ เสี่ยงใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นรวมทั้งผลกำไรจากการทำงาน ในอัตราร้อยละ 80 ต่อ 20 (A ต่อ บริษัทฯ) ซึ่ง A จะเป็นผู้ทำการก่อสร้างหลักเกี่ยวกับแท่งคอนกรีตเสริมเหล็กสะพานเหล็ก ฐานราก ตอหม้อ ทางยกระดับ และการจัดการในการก่อสร้างโดยรวม บริษัทฯ เป็นหุ้นส่วนในการก่อสร้างแท่งคอนกรีตเสริมเหล็ก สะพานเหล็ก ฐานราก ตอหม้อ ทางยกระดับ และการจัดการเรื่องการรับจ้างช่วงในท้องถิ่น งานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง สัญญากิจการร่วมค้าฯ ดังกล่าว ไม่ได้รวมถึงเงินลงทุนที่ต้องใช้ในโครงการฯ เนื่องจากกิจการร่วมค้าฯ จะได้รับเงินจ่ายล่วงหน้าร้อยละ 15 ของมูลค่างานทั้งหมดของโครงการฯ ก่อนเริ่มงานก่อสร้าง และ กิจการร่วมค้าฯ ได้จ้างเหมาช่วงงานทั้งหมดให้กับบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมค้าฝ่ายหนึ่งของกิจการร่วมค้าฯ

1.3 การประกอบธุรกิจของ A ประกอบกิจการเกี่ยวกับให้คำปรึกษา ออกแบบ ทางวิศวกรรม ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศจดทะเบียนตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่นและมีสาขาในประเทศไทย โดยได้รับ อนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 และไม่ปรากฏข้อมูลว่า A แจ้งการ จัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคต่ออธิบดีกรมสรรพากร แต่อย่างใด

2. ในการดำเนินงานกิจการร่วมค้าฯ มีรายจ่ายค่าดำเนินการให้กับ A สำหรับโครงการฯ ดังกล่าว ดังนี้

2.1 กรณีค่าบริหารการจัดการ (Administrative fees) กิจการร่วมค้าฯ ได้ทำสัญญาบริหาร จัดการกับ A เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 โดยมีขอบเขตการให้บริการดังนี้

(1) จัดเตรียมเอกสารและทำการยื่นซองประมูลราคาในโครงการจนเป็นผลสำเร็จ

(2) จัดเตรียมการเดินทางเพื่อการธุรกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย

(3) ประสานงานระหว่างคู่สัญญา

(4) จัดเตรียมการเรื่องงบประมาณของกิจการร่วมค้าฯ

(5) ตรวจตราเงินทุนดำเนินการ และปัญหาทางการเงินอื่นๆ ของกิจการร่วมค้าฯ

(6) ให้บริการด้านการบริหารจัดการอื่นๆ ตามที่ตกลงระหว่างคู่สัญญา

การดำเนินงานการให้บริการตามสัญญาดังกล่าว ในระยะแรกตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการฯ A จะดำเนินการ ในประเทศไทย เมื่อทำการวางระบบการบริหารจัดการโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางกลับไปดำเนินงาน ต่อที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของโครงการฯ โดยมีผู้จัดการโครงการฯ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นประสานงาน ในประเทศไทย และมีการเดินทางมาประชุมเป็นครั้งคราวตามที่กิจการร่วมค้าฯ ต้องการ กิจการร่วมค้าฯ ได้ตกลงจ่ายเงินให้กับA ในประเทศญี่ปุ่นเป็นรายเดือน ซึ่งกิจการร่วมค้าฯ นำค่าตอบแทนดังกล่าว มาถือเป็น รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และกิจการร่วมค้าฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่ง ภาษีมูลค่าเพิ่มทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ และนำมาถือเป็นภาษีซื้อของกิจการร่วมค้าฯ ในการยื่นแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีนั้น

2.2 กรณีค่าปรึกษาทางวิศวกรรม (Engineering fees) กิจการร่วมค้าฯ ได้ทำสัญญาให้คำปรึกษา ทางวิศวกรรมกับ A เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นการให้บริการให้คำปรึกษาแนะนำ และแนวทางในการแก้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระหว่างก่อสร้างสะพาน โดยมีขอบเขตการให้บริการ ดังนี้

(1) ตรวจสอบและให้คำแนะนำเรื่องแผนงาน แบบแปลนและแบบร่าง ขั้นตอนและแผนผังการ ทำงานตามที่กิจการร่วมค้าฯ ไว้ให้บริการ

(2) ตรวจสอบและให้คำแนะนำสำหรับการก่อสร้างสะพาน

(3) ตรวจทานแบบร่างสำหรับการก่อสร้างสะพานที่จำเป็นและข้อมูลอื่น ๆ ที่ต้องมีลักษณะ พึงประสงค์และแบบร่างของแต่ละส่วนพื้นที่

(4) ตรวจสอบและออกความเห็นเรื่องแบบร่างการประกอบและการคำนวณข้อมูลทาง วิศวกรรมสำหรับงานก่อสร้างสะพาน

(5) ให้คำแนะนำและเหตุผลทางเทคนิคทางวิศวกรรมที่จำเป็นตามที่กิจการร่วมค้าฯ ต้องการ เพื่อให้สามารถทำการก่อสร้างสะพานได้ดียิ่งขึ้นรวมถึงความรู้ใหม่ๆ ที่A อาจมี

(6) A จะให้คำแนะนำที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาและความยุ่งยากต่าง ๆ ที่กิจการร่วมค้าฯ ประสบในการก่อสร้างโดยใช้ประสบการณ์ การศึกษาและการทดสอบที่มีของ A ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นว่าเป็น สิ่งที่นำไปปฏิบัติได้ ประหยัด เป็นประโยชน์และมีส่วนร่วมในประสิทธิภาพในการก่อสร้างสะพาน

การดำเนินการให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมตามสัญญาดังกล่าว กิจการร่วมค้าฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อจ่ายเงินให้แก่A และนำค่าตอบแทนดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 และ ภ.พ.36 ไว้แล้ว


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (9)(10) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีกิจการร่วมค้าฯ ได้ชำระค่าบริหารจัดการและค่าปรึกษาทางวิศวกรรม ให้กับ A ตามสัญญา บริหารจัดการและสัญญาให้คำปรึกษาทางวิศวกรรม ค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไร หรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และหากเป็นค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินการของกิจการร่วมค้าฯ โดยมีหลักฐานชัดแจ้งที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า A มีการให้ความช่วยเหลือหรือบริการแก่กิจการร่วมค้าฯ ตาม ความเป็นจริงและเพื่อประโยชน์ของกิจการร่วมค้าฯ กิจการร่วมค้าฯ สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีการให้บริการตามสัญญาบริหารจัดการและสัญญาให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมของ A เข้าลักษณะเป็น ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร กิจการร่วมค้าฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าบริการ มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ A มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณภาษี มูลค่าเพิ่มจากฐานภาษีและอัตราภาษีตามมาตรา 79 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และกิจการร่วมค้าฯ มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่ง ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษีที่มีการยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/2933 ลงวันที่ 03 มิถุนายน 2551

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)