Skip to Content

รายจ่าย/ภาษีซื้อ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการบันทึกบัญชีต้นทุนและภาษีซื้อ

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการบันทึกบัญชีต้นทุนและภาษีซื้อ


ข้อเท็จจริง

บริษัท ส. ดำเนินกิจการเป็น ผู้รับจ้างผลิตภาพยนตร์โฆษณา โดยรับงานจากเอเยนซี่ หรือลูกค้าโดยตรง ซึ่งบริษัทฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาทีมงาน และงานถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาทั้งหมด ตั้งแต่จัดหานักแสดง ช่างแต่งหน้า ทำผม เสื้อผ้า ทีมงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้กำกับ ช่างกล้อง ทีมงานจัดฉาก จัดอุปกรณ์ในการถ่ายทำ จัดแสง ช่างไฟ โรงถ่ายทำ หรือสถานที่ข้างนอก ห้องบันทึกเสียง โฆษก เพลงประกอบ จัดอาหารให้กองถ่ายและทีมงานทุกๆ รายการที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาเพื่อให้งานเสร็จสิ้น จนกระทั่งเป็นเทปที่สามารถออกอากาศได้ ซึ่งจะถือว่าจบการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาจบหนึ่งชุด บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาเสื้อผ้า เครื่องประดับ เพื่อใช้ในการถ่ายทำผลิตภัณฑ์ที่โฆษณา เมื่อถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาเสร็จ เสื้อผ้า เครื่องประดับของโฆษณาชุดดังกล่าว จะไม่ถูกนำมาใช้ในการถ่ายทำโฆษณาของผลิตภัณฑ์ชุดอื่นๆ บริษัทฯ ได้รวบรวมและนำไปบริจาคแก่ผู้ด้อยโอกาสทางชนบท และผู้ประสบภัย บริษัทฯ จึงขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ ไม่นำเสื้อผ้า เครื่องประดับ มาเป็นทรัพย์สินถาวรของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ ได้คำนวณราคาที่แจ้งให้กับลูกค้าแล้ว ซึ่งราคาต่อชิ้นก็มีมูลค่าไม่มาก บริษัทฯ จึงนำไปบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนงานโฆษณา ถูกต้องหรือไม่และภาษีซื้อที่เกิดขึ้น บริษัทฯ สามารถนำไปถือเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ได้หรือไม่

2. ในระหว่างการถ่ายทำโฆษณา บริษัทฯ จะจัดหาอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ให้กับนักแสดง ทีมงานทั้งหมด และลูกค้าที่เกี่ยวข้อง โดยมิได้เลือกปฏิบัติให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทราบโดยทั่วไปในธุรกิจนี้ โดยบริษัทฯ ได้รวมคำนวณประมาณการค่าใช้จ่ายเหล่านี้เรียกเก็บจากลูกค้า บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ จะบันทึกค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของงานโฆษณา โดยไม่ถือว่า เป็นการรับรองแก่พนักงานและลูกค้าของบริษัทฯ ได้หรือไม่ และภาษีซื้อที่เกิดขึ้นบริษัทฯ สามารถนำไปถือเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ได้หรือไม


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (5) และ(13) มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 82/3 มาตรา 82/5(6) และ ประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 89)ฯ พ.ศ. 2542

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้จัดหาเสื้อผ้าและเครื่องประดับเพื่อใช้ในงานรับจ้างผลิตภาพยนตร์โฆษณาตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากบริษัทฯ สามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้ใช้ในงานรับจ้างผลิตภาพยนตร์โฆษณา เพื่อให้ได้ผลสำเร็จของงานตามที่บริษัทฯ ได้รับจ้างนั้น และไม่ได้นำไปใช้ในกิจการอื่นของบริษัทฯอีก บริษัทฯ สามารถนำรายจ่ายในการจัดหาเสื้อผ้า และเครื่องประดับดังกล่าวทั้งจำนวนมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการจัดหาเสื้อผ้าและเครื่องประดับดังกล่าว ถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ ซึ่งมีสิทธิ์นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ มีรายจ่ายในการจัดหาอาหาร และเครื่องดื่ม ตลอดจนขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ให้กับนักแสดง ทีมงาน และลูกค้าที่เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริงข้างต้น ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯสามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีซื้อที่เกิดขึ้นถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการโดยตรง บริษัทฯ สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร        กรณีที่บริษัทฯ ได้จัดหาอาหารและเครื่องดื่มตลอดจนขนมขบเคี้ยวต่างๆ ให้แก่ นักแสดง ทีมงานทั้งหมด และลูกค้าที่เกี่ยวข้อง เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ ไม่จำต้องออกใบกำกับภาษีแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ โดยบริษัทฯ ต้องคำนวณภาษีจากมูลค่าสินค้าหรือบริการที่ซื้อหรือรับมาบริการเพื่อให้บริการดังกล่าว และจัดให้มีเอกสารประกอบการลงรายงาน ซึ่งเอกสารดังกล่าวต้องมีปริมาณและมูลค่าสินค้าหรือบริการเพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และลงรายงานภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามข้อ 7 (6) (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/7250 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)