รายจ่ายเพื่อการลงทุน ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิข้อเท็จจริงบริษัทฯ ประกอบกิจการรับฝากสินค้า ให้เช่าคลังสินค้า และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ ได้จัดหาทรัพย์สินกรณีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ มาไว้เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ 1. ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าใหม่พร้อมจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยมีมูลค่าของ อาคารที่สร้างขึ้นและอุปกรณ์ที่จัดหามารวมกันเกินกว่า 5 ล้านบาท 2. ต่อเติม เปลี่ยนแปลง หรือขยายออกอาคารคลังสินค้าเดิม พร้อมจัดหาอุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อใช้ในการให้ บริการของบริษัทฯ โดยค่าใช้จ่ายในการต่อเติมอาคารคลังสินค้า และจัดหาอุปกรณ์รวมกันมีมูลค่าเกินกว่า 5 ล้านบาท และ 3. ก่อสร้างคลังสินค้าใหม่เพื่อให้เช่า มูลค่าเกินกว่า 5 ล้านบาท บริษัทฯ หารือว่า รายจ่ายที่บริษัทฯ ได้จ่ายเพื่อการต่าง ๆ เหล่านี้ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน ร้อยละยี่สิบห้าของเงินที่ได้จ่ายไป ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ.2549 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตาม กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2549 หรือไม่ อย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460)แนววินิจฉัย1. รายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซม ให้คงสภาพเดิม ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 25 ของเงินได้ที่ได้จ่ายไป ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ.ศ.2549 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156)ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2549 นั้น ต้องปรากฏว่า เป็นเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินตามโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยมูลค่าของโครงการดังกล่าว ได้แก่ มูลค่าของทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ ก. เครื่องจักร ส่วนประกอบอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ บรรดาที่ใช้ใน การดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ ข. โปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซื้อลิขสิทธิ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาใช้ในธุรกิจหลักของกิจการของบริษัท ค. ยานพาหนะที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ ในราชอาณาจักรที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจหลัก ของกิจการ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกิจการ 2. กรณีที่บริษัทฯ ได้จ่ายเงินได้บางส่วนเพื่อก่อสร้าง หรือปรับปรุงอาคารคลังสินค้าและบางส่วนเพื่อการได้มาซึ่งอุปกรณ์ ต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจหลักของบริษัทฯ นั้น หากบริษัทฯ สามารถพิสูจน์ให้เจ้าพนักงานประเมินเห็นได้ว่า เงินได้ ที่ได้จ่ายไปตามโครงการในส่วนตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป เป็นเงินได้ที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินตามที่กล่าวใน 1. ประกอบกับทรัพย์สินต่างๆ เหล่านั้น มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ของประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156)ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2549 บริษัทฯ จะได้รับสิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 25 ของเงินได้ที่ได้จ่ายไปเฉพาะที่เป็นค่าทรัพย์สินเหล่านั้น ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ.ศ.2549 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/3889 ลงวันที่ 08 กรกฎาคม 2551 |