รายจ่ายเพื่อการลงทุน ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่460) พ.ศ. 2549
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่460) พ.ศ. 2549ข้อเท็จจริงบริษัท K จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท Leasing รถยนต์นั่งหลายบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์บริษัทฯ มีความเข้าใจในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กันยายน พ. ศ. 2549 ดังต่อไปนี้ 1. ธุรกิจ Leasing รถยนต์นั่ง เป็นการให้บริการที่กิจการกระทำเป็นปกติตรงตามนิยามคำว่า "ธุรกิจหลักของกิจการ" ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156)ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549 2. เงินได้ที่บริษัท Leasing ซื้อรถยนต์นั่งมาให้เช่าเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน เพราะเป็นการซื้อทรัพย์สินมาเพื่อนำออกให้เช่า และมีมูลค่ารวมกันตั้งแต่ 5 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว 3. เงินได้ที่บริษัท Leasing ซื้อรถยนต์นั่งมาให้เช่าเป็นเงินได้ตามข้อ 3(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับ ดังกล่าว ที่บัญญัติว่า " ยานพาหนะที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ ในราชอาณาจักรที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่าซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกิจการ" บริษัทฯ จึงหารือว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรี (5) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 156)ฯแนววินิจฉัยลูกค้าของบริษัทฯ ซึ่งประกอบกิจการด้านธุรกิจ Leasing และเป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หากการให้เช่าทรัพย์สินแบบ Leasing ดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาที่ผู้ให้เช่าให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้เช่า ซึ่งมีลักษณะเป็นการบริการสินเชื่อแบบหนึ่งในรูปทรัพย์สิน เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องกลต่างๆ ตามที่ผู้เช่าต้องการ ผู้เช่าเป็นผู้เลือกประเภท ขนาด ผู้แทนจำหน่าย หรือผู้ผลิตเอง เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้วผู้เช่าจะให้ผู้ให้เช่าซื้อทรัพย์สินจากผู้จำหน่าย หรือผู้ผลิต แล้วจึงนำมาให้ผู้เช่าทำการเช่า โดยผู้ให้เช่ายังคงมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นในขณะที่ผู้เช่ามีสิทธิจะใช้ทรัพย์สินนั้นๆ ด้วย การจ่ายค่าเช่าตามระยะเวลาที่ตกลงกัน และมีข้อตกลงว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญา กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอาจเปลี่ยนไปเป็นของผู้เช่าหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นสัญญาที่มีรูปแบบเฉพาะเป็นพิเศษย่อมไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่)460) พ.ศ. 2549 แต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/12364 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2550 |