รายจ่ายเพื่อการลงทุน ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ. ศ. 2549
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ. ศ. 2549ข้อเท็จจริงบริษัท ศ. จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการขายและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ บริษัทฯ เป็นบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคาร ท. ในปี 2539 มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ บางส่วน สำหรับส่วนที่เหลือจะขายหรือให้เช่า แต่เมื่อปี 2540 เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ บริษัทฯ ประสบปัญหาทางการเงิน จึงหยุดการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในขณะ ที่ก่อสร้างได้ 23 ชั้น ต่อมาในปี 2547 เมื่อบริษัทฯ มีผลประกอบการดีและมีสภาพคล่องจึงได้ดำเนินการ ก่อสร้างอาคารดังกล่าวจนแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้อาคารได้ตามวัตถุประสงค์เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 บริษัทฯ จึงขอทราบว่า รายจ่ายของบริษัทฯ ที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าว ดังต่อไปนี้ ได้รับ สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ. ศ. 2549 หรือไม่ อย่างไร (1) ต้นทุนค่าก่อสร้างอาคาร (2) อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ (3) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (4) ยานพาหนะที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 156)ฯแนววินิจฉัยบริษัทซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ. ศ. 2549 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156)ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549 จะต้องเป็นกรณีที่มีการจัดทำโครงการ ที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ. ศ. 2549 มีผลใช้บังคับ ดังนั้น กรณีของบริษัทฯ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นก่อนที่พระราช กฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ. ศ. 2549 มีผลใช้บังคับ จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706(กม.08)/220 ลงวันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2550 |