Skip to Content

รายจ่ายเพื่อการลงทุน  ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม มีความประสงค์จะขอทราบเกี่ยวกับ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549 กรณีเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ลงทุนในทรัพย์สิน ที่ไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน โดยทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามประสงค์ภายในห้ารอบระยะเวลาบัญชีนับแต่เริ่มโครงการ และโครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปแล้ว จำนวน 3 โครงการดังนี้

1. กรณีโครงการที่ได้รับอนุมัติโครงการการลงทุนในปี 2550 มีการจ่ายเงินเพื่อลงทุนในทรัพย์สินตั้งแต่ปี 2550 - ปี 2553 และทรัพย์สินพร้อมใช้งานในปี 2553

2. กรณีโครงการที่ได้รับอนุมัติโครงการการลงทุนในปี 2552 มีการจ่ายเงินเพื่อลงทุนในทรัพย์สินตั้งแต่ปี 2552 - ปี 2554 และทรัพย์สินพร้อมใช้งานในปี 2554

3. กรณีโครงการที่ได้รับอนุมัติโครงการการลงทุนในปี 2554 มีการจ่ายเงินเพื่อลงทุนในทรัพย์สินตั้งแต่ปี 2554 - ปี 2557 และทรัพย์สินพร้อมใช้งานในปี 2557

บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า กรณีโครงการตาม 1 2 และ 3 บริษัทฯ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวได้โดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดสิทธิประโยชน์ โดยบริษัทฯ มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่ง ประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของเงินได้ที่ได้จ่ายไปนั้น ทั้ง 3 โครงการ ใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) และประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156)

แนววินิจฉัย

การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่าย เพื่อการลงทุน หรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของเงินได้ที่ได้จ่ายไปนั้น โดยเงินได้ที่ได้จ่ายซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลนั้น มีกำหนดระยะเวลาที่ต้องจ่ายภายในห้ารอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จำนวน 3 โครงการ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เฉพาะโครงการตาม 1 ของบริษัทฯ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็น จำนวนร้อยละ 25 ของเงินได้ที่ได้จ่ายไป ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนั้น จะต้องมีเงื่อนไขของการใช้สิทธิประโยชน์ครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วย หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น ซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549 ประกอบกับคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือ การต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2550 ด้วย




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/9229 ลงวันที่ 06 พฤศจิกายน 2552

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)