รายจ่ายอบรมสัมมนา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการฝึกอบรม
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการฝึกอบรมข้อเท็จจริงบริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2539 ประกอบกิจการ ดังนี้ 1. ให้บริการโรงพักสินค้าและการขนส่ง 2. ให้บริการการศึกษาตามหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 3. จัดการฝึกอบรมให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป (Public Training) และให้การอบรมลูกจ้าง ของบริษัทในเครือเดียวกันตามหลักสูตรที่บริษัทฯ จัดขึ้น โดยบางหลักสูตรเป็นเนื้อหาที่บรรจุ ในหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ได้รับจากการประกอบกิจการในข้อ 2. และข้อ 3. บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การปฏิบัติดังต่อไปนี้ถูกต้องหรือไม่ 1. บริษัทฯ มิได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการตามข้อ 2. เนื่องจากได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก การให้บริการตามข้อ 3. 2. เงินค่าตอบแทนที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่วิทยากรที่มาบรรยายตามหลักสูตรที่บริษัทฯ จัดขึ้น ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย 2.1 กรณีจ่ายให้แก่บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น บริษัทฯ จะหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 3/1(1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด. 53 2.2 กรณีจ่ายให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัทฯ จะหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินภาษี ทั้งสิ้นเท่าใด หารด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด จึงจะหักภาษี ณ ที่จ่าย และในการจ่ายเงินครั้งที่สองในปีภาษีเดียวกันนี้ จะนำเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งแรกมารวมกับ เงินได้พึงประเมินที่จ่ายในครั้งที่สองได้เป็นจำนวนเท่าใด แล้วคำนวณภาษีตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ผลลัพธ์เป็นเงินภาษีที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ครั้งที่สอง ถ้ามีการจ่ายค่าวิทยากรแก่ผู้รับรายเดียวกันในปีภาษีเดียวกันนี้อีก จะคำนวณตามวิธีข้างต้น และนำส่งภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 1 3. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมกับบริษัทฯ รวมทั้งกรณีบริษัทฯ จัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของบริษัทในเครือเดียวกันตามหลักสูตรที่บริษัทฯ จัดขึ้น ได้รับสิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าฝึกอบรม ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 ประกอบกับ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่รับลูกจ้าง ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้าศึกษาหรือฝึกอบรม ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 48(1) มาตรา 50(1) มาตรา 40(2) มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 81(1)(ช) มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีตามข้อ 3 หากบริษัทฯ ได้จัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป (Public Training) หรือให้แก่ลูกจ้างของบริษัทในเครือเดียวกันตามหลักสูตรที่บริษัทฯ จัดขึ้น เข้า ลักษณะเป็นสถานศึกษาตามข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5(1)(ง) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่รับลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้ารับศึกษาหรือฝึกอบรม ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ดังนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปหรือบริษัทในเครือเดียวกันกับบริษัทฯ ซึ่งส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมกับบริษัทฯ จึงมีสิทธิ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็น ค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมนั้น ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 2.1 กรณีตามข้อ 2.1 บริษัทฯ จ่ายเงินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และให้ใช้แบบ ภ.ง.ด. 53 เป็นแบบยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 2(4)(ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 2.2 กรณีตามข้อ 2.2 บริษัทฯ จ่ายเงินให้แก่บุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่าย เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นภาษีไว้เท่านั้น ถ้าไม่ทราบจำนวนคราวที่จ่ายแน่นอน ให้คำนวณโดยนำเงินได้พึงประเมินที่จ่ายคูณด้วยหนึ่งแล้ว คำนวณภาษีตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ได้จำนวนเงินภาษีเท่าใดให้หารด้วยหนึ่ง แล้วหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เท่านั้น ถ้าคำนวณแล้วไม่มีเงินภาษีก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงิน ค่าตอบแทนให้กับวิทยากรครั้งที่สองในปีภาษีเดียวกัน ก็ให้นำเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งแรกมารวมกับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในครั้งที่สองได้เป็นจำนวนเท่าใดให้คูณด้วยหนึ่ง แล้วคำนวณภาษีตามหลักเกณฑ์ ในมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ได้จำนวนเงินภาษีเท่าใดให้หารด้วยหนึ่ง ผลลัพธ์เป็นจำนวนภาษีเท่าใด ให้นำภาษีที่หักไว้ ณ ที่จ่ายครั้งแรก (ถ้ามี) มาหักออกเหลือเท่าใดเป็นเงินภาษีที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินครั้งที่สอง และถ้ามีการจ่ายค่าวิทยากรให้แก่ผู้รับรายเดียวกันในปีภาษีนี้อีก การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ครั้งต่อไป ก็ให้คำนวณตามวิธีข้างต้น และให้ใช้แบบ ภ.ง.ด. 1 เป็นแบบยื่นรายการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 58 และมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 58) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีตามข้อ 1 บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน การให้บริการ การศึกษาแก่บุคคลที่เป็นนักเรียนของโรงเรียน โดยจัดเป็นชั้นเรียนในแต่ละระดับการศึกษาภายใน สถานศึกษาของบริษัทฯ รายรับที่ได้จากกิจการดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลภายนอกที่มิใช่นักเรียนของโรงเรียน รายรับ จากการประกอบกิจการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 (1)แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/2072 ลงวันที่ 01 พฤษภาคม 2551 |