Skip to Content

รายจ่ายต้องห้าม ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับรู้รายได้และรายจ่ายเงินค่าภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าเสื่อมคุณภาพ

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับรู้รายได้และรายจ่ายเงินค่าภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าเสื่อมคุณภาพ


ข้อเท็จจริง

กรณีการรับรู้รายได้และรายจ่ายเงินค่าภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าเสื่อมคุณภาพ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้

1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบียร์

2. ในการเสียภาษีสรรพสามิต ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องนำส่งภาษีสรรพสามิตก่อนนำสินค้าออกจากโรงงานผลิต

3. ภาษีสรรพสามิตที่เสียไป บริษัทฯ ยังมิได้รับรู้เป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการ แต่ถือเป็นต้นทุนสินค้า และจะรับรู้เป็นรายจ่ายเมื่อได้ขายสินค้า

4. ในกรณีที่สินค้าเสื่อมคุณภาพ บริษัทฯ จะต้องแจ้งกรมสรรพสามิตก่อน เพื่อขออนุมัติให้ทำลายสินค้า

บริษัทฯ ขอหารือ ดังนี้

1 กรณีที่บริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้ทำลายสินค้าจากเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต บริษัทฯ มีสิทธิรับรู้รายจ่ายภาษีสรรพสามิตที่เสียไป เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัติให้ทำลายสินค้า ถูกต้องหรือไม่

2 หากต่อมาบริษัทฯ ได้รับคืนภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ทำลายไปแล้ว บริษัทฯ จะต้องรับรู้ภาษีสรรพสามิตที่ได้รับคืน เป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่เจ้าหน้าที่สรรพสามิตอนุมัติให้คืนภาษีสรรพสามิต ถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

หากค่าภาษีสรรพสามิต บริษัทฯ ได้ถือเป็นต้นทุนขายของสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีสรรพสามิตดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัติให้ทำลายสินค้า ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 79/2541 เรื่อง แนวทางปฏิบัติ กรณีการทำลายของเสีย สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702(กม.13)/497 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2554

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)