Skip to Content

รายจ่ายต้องห้าม ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินสำรองเกษียณอายุและเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินสำรองเกษียณอายุและเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าว มีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับ ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการพึ่งพาการรับจ้างผลิตจากลูกค้ารายเดียว ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อความมั่งคงของพนักงานที่จะได้รับผลตอบแทนตามกฎหมายแรงงาน คณะกรรมการของบริษัทฯ จึงมีมติให้สำรองเงินเกษียณอายุและเงินชดเชยการเลิกจ้างพนักงานตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา โดยได้บันทึกบัญชีสำรองเงินเกษียณอายุและเงินชดเชยการเลิกจ้างพนักงานดังกล่าวมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2545 แต่ไม่ได้นำไปคำนวณเป็นรายจ่ายทางภาษีอากรแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อปี 2551 บริษัทฯ มีความจำเป็น ต้องโอนย้ายพนักงานทั้งหมดไปยังบริษัทซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน (บริษัทในเครือ) พนักงานที่โอนย้ายไปยังบริษัท ในเครือนั้น จะได้รับการนับอายุงานต่อเนื่องจากอายุงานในบริษัทฯ และมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามกฎหมายแรงงาน ต่อเนื่องกับบริษัทในเครือนั้น บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. กรณีบริษัทฯ โอนเงินสำรองเกษียณอายุและเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ที่ได้สำรองไว้ทั้งหมดให้แก่บริษัทในเครือ โดยมีภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินให้พนักงานตามสิทธิที่พนักงาน จะได้รับ บริษัทฯ สามารถนำเงินที่จ่ายไปดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่จ่าย ไปจริงทั้งจำนวนได้หรือไม่ และบริษัทในเครือซึ่งรับโอนเงินนั้น ไม่ต้องนำไปบันทึกเป็นรายได้ในการคำนวณภาษี แต่บันทึกเป็นหนี้สินที่จะต้องจ่ายต่อไปได้หรือไม่

2. กรณีพนักงานที่โอนไปนั้น ลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุ หรือถูกเลิกจ้างบริษัทในเครือต้องจ่าย เงินสำรองเกษียณอายุและเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานให้แก่พนักงานที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง ดังกล่าว หากการจ่ายเงินนั้นมีจำนวนมากกว่าหรือน้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้รับโอนจากบริษัทฯ บริษัทในเครือจะต้องนำเงินส่วนต่างดังกล่าวมาคำนวณเป็นรายได้หรือรายจ่ายทางภาษีอากรหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ โอนย้ายพนักงานไปยังบริษัทในเครือพร้อมทั้งโอนเงินสำรองเกษียณอายุและเงินชดเชย การเลิกจ้างของพนักงานเป็นรายบุคคลให้แก่บริษัทในเครือ พนักงานที่โอนย้ายไปนั้น จะได้รับการนับอายุงานต่อเนื่องจากอายุงานในบริษัทฯ และมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามกฎหมายแรงงานต่อเนื่องกัน เมื่อบริษัทฯ โอน จ่ายเงินสำรองเกษียณอายุและเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ทั้งหมดไปให้แก่บริษัทในเครือ บริษัทฯ สามารถนำเงินดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนเงิน ดังกล่าวนั้นได้ โดยถือว่าบริษัทฯ ได้จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่พนักงานเสร็จเด็ดขาดแล้ว ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนบริษัทในเครือไม่ต้องนำมาถือเป็นรายได้ เพราะเป็นการรับโอนมาโดยมี ข้อผูกพันว่าจะต้องจ่ายต่อไป แต่ต้องนำไปเข้าบัญชีเจ้าหนี้ไว้ก่อนเป็นรายๆ เมื่อบริษัทในเครือจ่ายเงินให้พนักงาน ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ขอให้จ่ายจากบัญชีเจ้าหนี้ดังกล่าวก่อน ซึ่งต้องห้ามถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไร สุทธิตามมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้ามีเงินเหลือหรือ ในที่สุดไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่พนักงานรายใด อีกในรอบระยะเวลาบัญชีใดแล้ว จะต้องนำกลับมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

2. กรณีบริษัทในเครือจ่ายเงินสำรองเกษียณอายุและเงินชดเชยการเลิกจ้างให้แก่พนักงานเกินกว่าจำนวน ที่ได้รับโอนมา เงินสมทบในส่วนที่บริษัทในเครือได้จ่ายไปนั้น ย่อมถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับ รอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร หากว่าการจ่ายดังกล่าว เป็นการจ่ายตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อตกลงที่จะต้องจ่ายให้แก่พนักงานทุกคนในทำนองเดียวกัน โดยไม่ได้ กำหนดว่าจะต้องจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทในเครือต้องได้นำเงินสมทบ หรือผลประโยชน์ที่ได้จากเงินสมทบและเงินสำรองที่รับโอนมาดังกล่าว ไปถือเป็นรายได้และได้รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/2993 ลงวันที่ 04 มิถุนายน 2551

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)