รายจ่ายต้องห้าม ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินชดเชยจากการยกเลิกสัญญาเช่า
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินชดเชยจากการยกเลิกสัญญาเช่าข้อเท็จจริงบริษัท ซ. ได้ให้ผู้เช่าทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้าของบริษัทฯ ซึ่งเป็นการเช่าแบบระยะยาวเกิน 3 ปี โดยผู้เช่าจะต้องทำสัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการกับบริษัทฯ ตลอดจนต้องชำระเงินค่าสิทธิการเช่ากับค่าบริการตามสัญญาทั้งสองให้แก่บริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้นำเงิน จำนวนดังกล่าวรวมทั้งค่าเช่าและค่าบริการรายเดือนไปรับรู้รายได้ตามส่วนของอายุสัญญาเช่า และรับรู้รายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายได้นั้นเกิดขึ้นจริง แล้วแต่กรณี ต่อมา บริษัทฯ และผู้เช่าได้ตกลงยกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวก่อนครบกำหนดตามสัญญา ซึ่งเหตุผลในการยกเลิกสัญญานั้น สรุปความได้ดังนี้ 1. บริษัทฯ ให้ผู้อื่นเช่าพื้นที่หน้าร้านของผู้เช่า และผู้อื่นนั้นขายสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของผู้เช่า ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบกิจการของผู้เช่า จนผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่ารายเดือนให้แก่บริษัทฯ จึงยกเลิกสัญญาเช่า 2. ผู้เช่าประกอบธุรกิจขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผู้เช่าจึงขอยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด 3. บริษัทฯ ต้องการปรับภาพลักษณ์ของธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของผู้เช่า บริษัทฯ จึงขอยกเลิกสัญญาเช่า ในการยกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าว บริษัทฯ ได้ตกลงจ่ายเงินชดเชยจากการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดให้แก่ผู้เช่าโดยได้จ่ายไปในคราวเดียวกันทั้งจำนวน จึงขอทราบว่า เงินชดเชยที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ผู้เช่านั้น บริษัทฯ มีสิทธินำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. กรณีบริษัทฯ และผู้เช่าได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในอาคารศูนย์การค้าของบริษัทฯ ต่อมามีการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดตามสัญญา โดยไม่มีข้อกำหนดใดในตัวอย่างสัญญาเช่าพื้นที่ฉบับดังกล่าวที่ระบุให้บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เช่าในกรณีที่มีการยกเลิกสัญญาเช่า เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เช่าโดยไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย การจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตามมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำเงินชดเชยนั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 2. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินชดเชยจากการยกเลิกสัญญาให้แก่ผู้เช่าตาม 1. เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นเงินได้ที่ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ดังนั้น บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด 3. กรณีผู้เช่าได้รับเงินชดเชยจากการยกเลิกสัญญาเช่าจากบริษัทฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 77/1(8)(9)(10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6013 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2550 |