Skip to Content

รายจ่ายต้องห้าม ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าวัตถุมงคล

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าวัตถุมงคล


ข้อเท็จจริง

บริษัท W จำกัด แจ้งว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตรายการโทรทัศน์และขายโฆษณาทางโทรทัศน์ และเนื่องในวาระปีมหามงคลสมัย บริษัทฯ ได้จัดทำวัตถุมงคลและเปิดให้บุคคลทั่วไปได้สั่งจองไว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยรายได้สุทธิจากการให้เช่าวัตถุมงคลหลังจากหักค่าใช้จ่าย บริษัทฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย บริษัทฯ มีความเห็นว่า

1. กรณีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดทำวัตถุมงคลและการประชาสัมพันธ์เพื่อกิจการดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินรายได้จากการให้เช่าวัตถุมงคลทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีการให้เช่าวัตถุมงคล หากบริษัทฯ นำรายได้ทั้งหมดหักค่าใช้จ่ายแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย โดยไม่นำไปใช้ในทางอื่น การให้เช่าวัตถุมงคลดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ธ) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้เช่าวัตถุมงคล สำหรับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในการจัดทำวัตถุมงคลดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ความเห็นของบริษัทฯ ตามข้างต้นถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (3) (13) มาตรา 81(1)(ธ) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 146)ฯ

แนววินิจฉัย

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ ใช้ในการจัดทำวัตถุมงคลและประชาสัมพันธ์ตามข้อเท็จจริง เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ มีสิทธินำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีบริษัทฯ นำเงินที่ได้หลังหักค่าใช้จ่ายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ บริษัทฯ มีสิทธินำเงินดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินได้ที่ได้รับจากการให้เช่าวัตถุมงคลดังกล่าว หากบริษัทฯ มิได้นำผลกำไรไปใช้จ่ายในทางอื่น นอกจากเพื่อประโยชน์แก่การสาธารณกุศลภายในประเทศการให้เช่าวัตถุมงคลดังกล่าวจึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ธ) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้เช่าวัตถุมงคลสำหรับภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการดังกล่าว บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/3077 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)