รายจ่ายต้องห้าม ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งเสริมการขาย
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งเสริมการขายข้อเท็จจริงบริษัท A จำกัด แจ้งว่า บริษัทA ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์แก่ลูกค้าที่ต้องการซื้อรถยนต์จากบริษัทผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (บริษัทผู้แทนฯ) ในการประกอบกิจการดังกล่าวบริษัทA ต้องการเพิ่มยอดการจัดเช่าซื้อและบริษัทผู้แทนฯ ต้องการเพิ่มยอดขายรถยนต์ จึงได้ตกลงร่วมกันในการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่ลูกค้า เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย หรือค่าเบี้ยประกันภัย เพื่อเป็นแรงจูงใจในการตัดสินใจของลูกค้า บริษัทA จึงจัดทำรายการส่งเสริมการขาย ดังนี้ 1.ลดภาระดอกเบี้ย โดยบริษัทA ให้ลูกค้าเช่าซื้อรถยนต์ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งบริษัทผู้แทนฯ จะจ่ายเงินสนับสนุนให้กับบริษัทA เป็นการชดเชยอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่บริษัทA ได้รับลดลง ดังนี้ 1.1 จ่ายตามจำนวนรถยนต์แต่ละคันที่บริษัทA ให้เช่าซื้อ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน เช่น อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานร้อยละ 4 แต่บริษัทA จะคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าในอัตราร้อยละ 3.5 และบริษัทผู้แทนฯ จะจ่ายเงินสนับสนุนคืนให้บริษัทA คันละ 1,000 บาท แต่ถ้าบริษัทA คิดดอกเบี้ยกับลูกค้าในอัตราร้อยละ 3 บริษัทผู้แทนฯ จะจ่ายเงินสนับสนุนคืนให้บริษัทA คันละ 1,500 บาท 1.2 จ่ายจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยผันแปรตามแต่จะตกลงกัน เช่น อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานร้อยละ 4 แต่บริษัทA จะคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าในอัตราร้อยละ 3.5 จะมีส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ร้อยละ 0.5 บริษัทผู้แทนฯ จะจ่ายให้กับบริษัทA จำนวนร้อยละ 70 ของส่วนต่างดังกล่าว 2. ลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าเบี้ยประกัน โดยบริษัทA ซื้อประกันภัยรถยนต์ เพื่อแถมให้ลูกค้าที่ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทA บริษัทผู้แทนฯ จะจ่ายเงินสนับสนุนให้กับบริษัทA เป็นบางส่วน เช่น บริษัทA ซื้อประกันภัยรถยนต์จำนวน 20,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 1,400 บาท บริษัทผู้แทนฯ จ่ายเงินสนับสนุนจำนวน 8,000 บาท บริษัทA ขอหารือ ดังนี้ 1. เงินสนับสนุนที่บริษัทA ได้รับจากบริษัทผู้แทนฯ กรณีการลดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือกรณีการลดภาระค่าใช้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ลูกค้า บริษัทA จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และถือเป็นฐานภาษีในการนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ 2. ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่แถมให้กับลูกค้า บริษัทA สามารถนำมาลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและนำใบกำกับภาษีซื้อมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรี (3)(13) มาตรา 82/3 มาตรา 82/5 และมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. กรณีบริษัทผู้แทนฯ จ่ายเงินสนับสนุนเพื่อชดเชยค่าอัตราดอกเบี้ยหรือค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ซึ่งบริษัทผู้แทนฯ รับภาระแทนลูกค้าให้แก่บริษัทA เพื่อสนับสนุนการขายนั้น เงินที่บริษัทA ได้รับ เข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากการส่งเสริมการขาย บริษัทA ต้องนำเงินสนับสนุนดังกล่าวไปรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทผู้แทนฯ ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และเงินสนับสนุนที่บริษัทA ได้รับ ไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการ ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทA ไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 2. กรณีค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่บริษัทA ได้จ่ายไปจริงเพื่อส่งเสริมการขายตามข้อตกลงกับลูกค้าโดยทั่วไป หากบริษัทA มีหลักฐานแสดงว่า บริษัทA เป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยเพื่อส่งเสริมการขายให้แก่ลูกค้า เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทA จึงนำค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีซื้ออันเกิดจากการทำประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว บริษัทA มีสิทธินำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ ถ้าไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ กรณีบริษัทA ส่งเสริมการขายโดยแถมประกันภัยรถยนต์ให้ลูกค้า หากเป็นการแถมตามนโยบายส่งเสริมการขายที่ให้แก่ลูกค้าเป็นการทั่วไปและมีมูลค่าไม่เกินค่าซื้อประกันที่พึงทำประกันภัยรถยนต์ตามปกติ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทนโดยมีเหตุอันสมควร บริษัทA จึงไม่ต้องนำมูลค่าของค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ซึ่งเป็นของแถมมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการให้บริการ ตามมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทA ต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุชนิด ประเภท เลขที่กรมธรรม์ที่แถมไว้ในใบกำกับภาษีฉบับเดียวกันกับที่ออกให้แก่ลูกค้าด้วย แต่ไม่ต้องนำมูลค่าของบริการที่แถมมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/560 ลงวันที่ 25 มกราคม 2559 |