Skip to Content

รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเอง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการบันทึกบัญชีใบลดหนี้

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการบันทึกบัญชีใบลดหนี้


ข้อเท็จจริง

กรณีการบันทึกบัญชีใบลดหนี้ของบริษัท ก. โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. บริษัท ซ. ประกอบกิจการรับจ้างบรรจุผลิตภัณฑ์ กาแฟ ครีม และนมผงเด็ก ได้ทำสัญญารับจ้างบรรจุผลิตภัณฑ์ กาแฟ ครีม และนมผงเด็ก ให้กับบริษัทที่อยู่ในเครือบริษัท น. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2544 โดยได้กำหนดค่าใช้จ่ายทั้งหมดขึ้นก่อนจะมีการผลิตจริงและได้ตกลงเป็นราคาขายที่จะเรียกเก็บจากบริษัท น. ซึ่งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่คำนวณเป็นต้นทุนในราคาขายโดยกำหนดไว้ในอัตราคงที่ร้อยละ 8 ต่อปี หลังจากนั้นบริษัทฯ จึงได้ทำการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจการรับจ้างบรรจุผลิตภัณฑ์ให้กับ บริษัท น. โดยบริษัทฯ เสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราที่น้อยกว่าที่คำนวณเป็นต้นทุนราคาขายที่เรียกเก็บจาก น. และเมื่อมีการผลิตจริง พบว่า ค่าใช้จ่ายบางรายการมีจำนวนสูงและต่ำกว่าความเป็นจริง แต่โดยภาพรวมแล้ว ยังคงได้รับประโยชน์จึงไม่มีการแจ้งขอเปลี่ยนแปลงราคาขายกับบริษัท น.แต่อย่างใด

2. ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2548 บริษัท น. ได้ตรวจสอบต้นทุนของบริษัทฯ พบว่า อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บเป็นต้นทุนราคาขายกับบริษัท น. สูงกว่าที่ได้จ่ายให้กับธนาคาร และขอให้ลดราคาขาย บริษัทฯ จึงต้องออกใบลดหนี้กับบริษัท น. เนื่องจากเป็นลูกค้ารายเดียว และในสัญญามีการระบุเรื่องการเปลี่ยนแปลงราคาขายไว้ ซึ่งบริษัทฯ ได้ออกใบลดหนี้จำนวน 15 ฉบับ รวมเป็นมูลค่าบริการทั้งสิ้น 57,700,390.20 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,039,027.32 บาท เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548

บริษัทฯ หารือว่า การรับรู้รายการบัญชีใบลดหนี้จำนวน 57,700,390.20 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ดังกล่าวถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

กรณีที่บริษัท น. ได้ขอลดราคาขายและบริษัทฯ ได้ลดราคาขายให้ตามสัญญาที่ตกลงกันถือเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการ บริษัทฯ มีสิทธินำมาลงเป็นรายจ่ายได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร โดยในการคำนวณรายได้และรายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร รายจ่ายที่เกิดจากการลดหนี้ของยอดขายสำหรับปี 2546 ปี 2547 และปี 2548 จึงเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว และถึงแม้บริษัทฯ เพิ่งจะตกลงลดราคาขายให้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 ก็ไม่ใช่กรณีที่ทำให้ไม่สามารถจะลงรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นใดได้ การที่บริษัทฯ นำรายการบัญชีใบลดหนี้ของปี 2546 และปี 2547 มาลงรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ทั้งจำนวนจึงไม่ถูกต้อง บริษัทฯ จะต้องยื่นปรับปรุงรายการใบลดหนี้ให้ตรงตามรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4612 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)