ราคาตลาด ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุนข้อเท็จจริงบริษัท ค. จำกัดประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องเสียงติดรถยนต์และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เช่น ลำโพง เครื่องเสียง (พาวเวอร์แอมป์) จอภาพขนาดเล็ก อะไหล่เกี่ยวกับเครื่องเสียง เป็นต้น บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อจอภาพขนาด 7 นิ้ว จากบริษัท ม. บริษัทฯ จึงได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากบริษัท น. และบริษัท พ. รวมจำนวน 760 ชิ้น เพื่อจะนำมาส่งมอบให้กับบริษัท ม. แต่เนื่องจากแผนการตลาดของบริษัท ม. เปลี่ยนแปลงไป จึงได้ปฏิเสธการสั่งซื้อสินค้าเป็นเหตุให้บริษัทฯ มีสินค้าคงเหลือค้างสต็อกจำนวน 359 ชิ้น บริษัทฯ จึงได้ติดต่อขายสินค้าให้กับ K ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันในต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,425 บาท (ราคาซื้อชิ้นละ 11,300 บาท) จำนวน 350 ชิ้น เพราะสินค้าในตลาดปัจจุบันใช้จอภาพขนาด 8 นิ้ว สินค้าที่ขายมีราคาตลาดชิ้นละ 4,200 - 5,000 บาท นอกจากนี้บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัท พ. ราคาชิ้นละ 40 เหรียญสหรัฐ เป็นเงินประมาณ 1,261,160 บาท เนื่องจากเมื่อบริษัทฯ ได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท น. และบริษัท พ. บริษัททั้งสองได้ผลิตสินค้าเพื่อเตรียมส่งมอบให้แก่บริษัทฯ ซึ่งสินค้าดังกล่าวได้สั่งทำและนำเข้ามาเพื่อขายให้กับบริษัทฯ โดยตรงไม่สามารถนำไปขายที่อื่นได้ โดยสัญญาซื้อขายมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงในเรื่องของการยกเลิกสัญญาและผลของการยกเลิกสัญญาในกรณีดังกล่าว บริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1.การขายสินค้าให้กับบริษัทในเครือเดียวกันในต่างประเทศต่ำกว่าราคาทุนถือเป็นการขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ 2.เงินชดเชยที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้บริษัท พ. บริษัทฯ มีสิทธินำมาลงเป็นรายจ่ายได้หรือไม่ 3.การบันทึกรายได้บริษัทฯ จะต้องใช้หลักฐานอะไร 4.การขายสินค้าให้กับบริษัทในเครือเดียวกันในต่างประเทศเป็นการส่งออกที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ใช่หรือไม กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ (4) มาตรา 65 ตรี (13) มาตรา 79/3(1) และมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้ขายจอภาพติดรถยนต์ขนาด 7 นิ้ว ให้กับ K บริษัทในเครือเดียวกันอยู่ในต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,425 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาทุนและราคาตลาด โดยอ้างว่าสินค้าในตลาดปัจจุบันใช้จอภาพขนาด 8 นิ้ว เข้าลักษณะเป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามราคาตลาดตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีตาม 2. เนื่องจากสัญญาซื้อขายมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ และบริษัท พ. ในเรื่องของการยกเลิกสัญญาและผลของการยกเลิกสัญญาในกรณีดังกล่าวไว้ บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามข้อตกลงซึ่งได้กระทำนอกเหนือจากสัญญาให้แก่บริษัท พ. การจ่ายเงินชดเชยของบริษัทฯ จึงเป็นการกระทำโดยสมัครใจของบริษัทฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร 3. แกรณีตาม 3. หลักฐานการบันทึกรายได้ บริษัทฯ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป 4. กรณีตาม 4. กรณีที่บริษัทฯ ได้ขายสินค้าให้กับ K ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งสินค้าไปต่างประเทศบริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6999 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2549 |