Skip to Content

ราคาตลาด ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้ใช้ที่ดินและอาคารโดยไม่คิดค่าเช่า

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้ใช้ที่ดินและอาคารโดยไม่คิดค่าเช่า


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ บริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารและส่วนควบของอาคารบนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ช. ซึ่งยินยอมให้ก่อสร้างอาคารโดยไม่คิดค่าเช่า เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลชุดเดียวกัน และบริษัทฯ ได้ให้บริษัท ช. ใช้อาคารสำนักงานร่วมกันกับบริษัทฯ ตั้งแต่อาคารสำนักงานก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยไม่ได้มีการแบ่งแยกสัดส่วนการใช้พื้นที่อาคาร และไม่มีการกำหนดรายละเอียดการใช้พื้นที่อาคารไว้ในสัญญาหรือข้อตกลงแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามบันทึกข้อตกลง การยินยอมใช้ที่ดินและใช้อาคารร่วมกัน ลงวันที่ 15 มกราคม 2544 และบริษัทฯ ได้นำภาษีซื้อค่าก่อสร้างอาคารและส่วนควบอาคารหักออกจากภาษีขาย ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร จึงขอทราบว่า

1. กรณีบริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารสำนักงานบนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ช. ซึ่งยินยอมให้ก่อสร้างอาคารโดยไม่คิดค่าเช่าที่ดิน บริษัทฯ ต้องรับรู้เป็นรายได้และนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ และเมื่อใด

2. กรณีบริษัท ช. ให้บริษัทฯ ใช้ที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารโดยไม่คิดค่าเช่า จะต้องถือว่า บริษัท ช. มีรายได้จากการให้บริษัทฯ ใช้ที่ดินโดยไม่คิดค่าเช่าหรือไม่

3. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อค่าก่อสร้างอาคารและส่วนควบอาคารซึ่งใช้เป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ หักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ทวิ (4) และมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

ตามบันทึกข้อตกลง การยินยอมให้ใช้ที่ดินและใช้อาคารร่วมกัน สรุปความได้ว่า บริษัท ช. ยินยอมให้บริษัทฯ ก่อสร้างอาคารสำนักงานบนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ช. และเมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จะยินยอมให้บริษัท ช. ใช้อาคารสำนักงานร่วมกัน โดยคู่สัญญายินยอมที่จะไม่คิดค่าเช่าระหว่างกัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น

1. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริษัท ช. เจ้าของที่ดิน ใช้อาคารสำนักงานของบริษัทฯ ร่วมกันกับบริษัทฯ โดยไม่คิดค่าเช่าอาคาร โดยบริษัทฯ ได้รับผลตอบแทนคือ ไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ดินให้แก่บริษัท ช. เข้าลักษณะเป็นการเช่า ถือเป็นการให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทนโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าบริการนั้นตามราคาตลาดในวันที่ให้บริการ ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีบริษัท ช. ให้บริษัทฯ ใช้ที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารโดยไม่คิดค่าเช่าที่ดิน โดยบริษัท ช. ได้รับผลตอบแทนคือ ได้ใช้อาคารสำนักงานร่วมกันกับบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการเช่า ถือเป็นการให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทนโดยไม่มีเหตุอันสมควรเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าบริการนั้นตามราคาตลาดในวันที่ให้บริการ ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง ได้แก่ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพื่อให้บริษัท ช. ใช้ร่วมกันกับบริษัทฯ อันเข้าลักษณะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นกรณีบริษัทฯ ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารตามส่วนของประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6615 ลงวันที่ 07 สิงหาคม 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)