ราคาตลาด ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการประเมินราคาทรัพย์สินตามราคาตลาด
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการประเมินราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดข้อเท็จจริงบริษัท ป. ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมัน บริษัทฯ จะโอนสิทธิการเช่าที่ดินและขายอาคารสถานีบริการน้ำมันให้แก่บริษัท ม. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จึงขอหารือว่า 1. กรณีการขายสิ่งปลูกสร้าง หากผู้ประเมินราคาอิสระที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) รับรองประเมินราคาต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน และราคาประเมินของกรมที่ดินยังมีราคาต่ำกว่ามูลค่าสุทธิตามบัญชี (NET BOOK VALUE) บริษัทฯ ควรใช้ราคาใดเป็นราคาทรัพย์สิน หรือควรใช้ผู้ประเมินราคาอิสระกี่รายเพื่อให้เป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 2. กรณีการโอนสิทธิการเช่าที่ดินไม่มีราคาประเมินของกรมที่ดินหรือของหน่วยราชการอื่น ๆ บริษัทฯ ได้ใช้ผู้ประเมินราคาอิสระที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) รับรองมาทำการประเมินราคาสิทธิการเช่าทรัพย์สินดังกล่าว ในราคาต่ำกว่ามูลค่าสุทธิตามบัญชี (NET BOOK VALUE) บริษัทฯ ควรใช้ผู้ประเมินราคาอิสระกี่ราย เพื่อให้กรมสรรพากรยอมรับและเป็นราคายุติธรรมทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย หากผู้ประเมินอิสระมากกว่าหนึ่งรายประเมินราคาได้ไม่เท่ากัน จะถือราคาเฉลี่ยเป็นราคาตลาด ได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ขายสิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัทในเครือเดียวกัน บริษัทฯ ต้องคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่โอนตามราคาตลาดตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งคำว่า "ราคาตลาด" หมายถึง ราคาค่าตอบแทนที่คู่สัญญาซึ่งเป็นอิสระต่อกันพึงกำหนดโดยสุจริตในทางการค้า โดยใช้ราคา ณ วันที่โอนที่ดิน 2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ โอนขายสิทธิการเช่าที่ดิน โดยใช้ผู้ประเมินราคาอิสระที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) รับรองมาทำการประเมินราคาทรัพย์สินดังกล่าว ในราคาต่ำกว่ามูลค่าสุทธิตามบัญชี (NET BOOK VALUE) นั้น ยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นราคาตลาดหรือไม่ หากการโอนขายสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าวมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6477 ลงวันที่ 02 สิงหาคม 2549 |