Skip to Content

ยื่นแบบกลางปี ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติม

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติม


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ในวันที่ 28 สิงหาคม 2541 โดยแสดงประมาณการ

กำไรสุทธิครึ่งปี 900,000 บาท คิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 256,738.77 บาท บริษัทฯ ขอใช้สิทธิตาม

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลาการชำระภาษีอากรสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการตาม

มาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2541 แบ่งชำระ 7 งวด ตั้งแต่เดือน

สิงหาคม 2541 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 เฉลี่ยเดือนละ 36,676.97 บาท หลังจากบริษัทฯ ผ่อนชำระ

ภาษีไปได้ 2 งวด ปรากฏว่าการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่บริษัทฯ ประมาณการไว้เนื่องจาก

ภาวะเศรษฐกิจและดอกเบี้ยรับของบริษัทฯ ลดลง บริษัทฯ จึงได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 อีก 1 ฉบับ เพื่อ

ปรับปรุงประมาณการกำไรสุทธิและจำนวนภาษีจากที่ยื่น ภ.ง.ด.51 ในครั้งแรกไว้ 256,738.77 บาท

โดยปรับปรุงกำไรจากเดิม 1,800,000 บาท เป็นกำไร 577,434.34 บาท ทำให้คำนวณภาษีกลางปี

ได้ 73,353.92 บาท เท่ากับจำนวนภาษีที่บริษัทฯ ผ่อนชำระไป 2 งวด งวดละ 36,676.97 บาท

บริษัทฯ จึงได้ทำหนังสือแจ้งการงดผ่อนภาษีส่วนที่เหลืออีก 5 งวด ๆ ละ 36,676.97 บาท รวมเป็น

เงิน 183,384.85 บาท ตามการยื่น ภ.ง.ด.51 ปรับปรุงเพิ่มเติม

บริษัทฯ จึงหารือว่าการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติมในครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้เงินภาษีที่ต้อง

ชำระตามประมาณการกำไรสุทธิที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติมเท่ากับภาษีที่บริษัทฯ ได้ผ่อนชำระไป

แล้ว 2 งวด บริษัทฯ ยังจะต้องชำระภาษีในส่วนที่เหลือในงวดที่ 3-7 อีกหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 67 ทวิ

แนววินิจฉัย

1. กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิของรอบ

ระยะเวลาบัญชีปี 2541 เป็นจำนวน 1,800,000 บาท และได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ของกำไรสุทธิครึ่ง

รอบบัญชีจำนวน 900,000 บาท ในวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นการยื่นแบบฯ ภายในระยะเวลาที่

กฎหมายกำหนดตามมาตรา 67 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร แต่ยังมิได้ชำระภาษีโดยบริษัทฯ ได้ขอผ่อนชำระ

ภาษีเป็น 7 งวด เนื่องจากบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิการขยายเวลาการชำระภาษีตาม

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องขยายเวลาการชำระภาษีอากรสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการตาม

มาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ซึ่งการขยายเวลาตาม

ประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวจะสิ้นสุดลงภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ดังนั้น ในกรณีนี้บริษัทฯ

จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามที่ได้จัดทำประมาณการและยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ฉบับแรก โดย

บริษัทฯ จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามที่ได้รับสิทธิตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับ

ดังกล่าว

2. ในกรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 อีก 1 ฉบับ เพื่อปรับลดยอดภาษี

ให้ต่ำกว่ายอดภาษีตาม ภ.ง.ด.51 ฉบับแรกซึ่งมีผลสมบูรณ์นับแต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการนั้น โดยบริษัทฯ

อ้างว่าเนื่องจากผลการดำเนินการของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้ในครั้งแรก โดยการยื่น

ปรับลดดังกล่าวมีผลให้บริษัทฯ ไม่มีภาษีที่จะต้องชำระในงวดที่ 3 - 7 เพราะภาษีที่คำนวณใหม่เท่ากับ

จำนวนภาษีที่ได้ผ่อนชำระไว้แล้ว จำนวน 2 งวดนั้น กรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่

2 ซึ่งได้ยื่นเกินกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด โดยอาศัยเหตุที่การประกอบกิจการที่เกิดขึ้น

หลังจากที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ซึ่งมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ไม่เป็นไป

ตามที่ได้ประมาณการไว้ จะมีผลให้ลบล้างจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ที่ได้

ยื่นไว้ในครั้งแรกซึ่งมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายมาแต่แรก ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องผ่อนชำระภาษีงวดที่ 3 - 7

ต่อไป อนึ่ง บริษัทฯ มีสิทธิที่จะนำภาษีที่ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ดังกล่าวไปถือเป็นเครดิตใน

การคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.50 เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีและหากปรากฏว่าคำนวณภาษีแล้วมีภาษีที่

ชำระไว้เกิน บริษัทฯ ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามแบบ ค.10




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/03406 ลงวันที่ 19 เมษายน 2542

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)