Skip to Content

ยึดอายัด ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณียึดอายัด

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณียึดอายัด


ข้อเท็จจริง

นาง ส. ได้นำที่ดินอยู่อาศัยและทำกิน น.ส.3 ก. เนื้อที่ 43-0-63 ไร่ ซึ่งติดจำนอง

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พร้อมที่ดินที่ครอบครองทำประโยชน์เกิน น.ส.3 ก. อีก

9-1-37 ไร่ ไปทำสัญญาจะซื้อขายกับนาย จ. ราคาไร่ละ 25,000 บาท จากนั้น นาย จ. ได้ให้เงิน

จำนวนหนึ่งเพื่อนำไปไถ่ถอนจำนองที่ดิน เงินส่วนที่ค้างจะจ่ายให้ในวันโอนที่ดิน ต่อมาเมื่อ จดทะเบียน

โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเรียบร้อยแล้ว นาย จ. กลับผิดนัดการชำระเงินส่วนที่เหลือโดยอ้างเหตุต่าง ๆ

ปัจจุบันครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากสำนักงานสรรพากรจังหวัดได้ดำเนินการยึดทรัพย์

โดยอ้างเหตุค้างชำระค่าอากรและค่าเพิ่มอากรจากการทำนิติกรรมขายที่ดินแปลงพิพาท ด้วยเหตุดังกล่าว

จึงประสงค์ที่จะขอพระราชทานพระมหากรุณาเพื่อให้ได้รับเงินจำนวนที่ค้างชำระจากผู้ซื้อที่ดิน จึงขอให้มี

การถอนคำสั่งยึดทรัพย์ พร้อมทั้งให้ทางราชการจัดสรรที่ดินสำหรับประกอบอาชีพตามนโยบายแก้ไขปัญหา

ความยากจนด้วย


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 12, มาตรา 30

แนววินิจฉัย

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากร ราย นาง ส. มีดังนี้

1. นาง ส. ได้ถูกตรวจพบว่าทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทขายที่ดินตาม

น.ส.3 ก. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2538 โดยขายให้กับนาย อ. แสดงราคาทุนทรัพย์ที่ขอทำ นิติกรรม

เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท กรมที่ดินจึงประเมินราคาทุนทรัพย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็น

จำนวนเงิน 431,575 บาท และเรียกเก็บอากรแสตมป์เป็นจำนวนเงิน 2,158 บาท ต่อมาปรากฏว่า

นาง ส. ได้ยอมรับข้อเท็จจริงว่าได้รับเงินค่าขายที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 1,075,000 บาท

และนาย อ. ยอมรับข้อเท็จจริงว่าได้ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน

1,078,937.50 บาท สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาทจึงส่งข้อมูลให้สำนักงานสรรพากรจังหวัดชัยนาททำ

การตรวจสอบเมื่อปี 2542

2. สำนักงานสรรพากรจังหวัดได้ทำการตรวจสอบภาษีอากรรายนี้ และเห็นว่า นาง ส. ได้

ชำระค่าอากรไว้ขาดไป จึงได้มีหนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรลงวันที่ 28 มิถุนายน 2542

โดยแจ้งให้นาง ส. ชำระค่าอากรเพิ่มเติมจำนวน 3,237 บาท และค่าเพิ่มอากรตามมาตรา 114(2)

(ข) แห่งประมวลรัษฎากร อีกเป็นจำนวน 6 เท่า เป็นเงิน 19,422 บาท รวมเป็นเงิน ทั้งสิ้น 22,659

บาท

3. เมื่อนาง ส. ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าวแล้วมิได้นำเงินมาชำระแต่อย่างใด และจากการ

สอบสวนทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรพบว่ามีบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จึงใช้อำนาจ

ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ทำการอายัดบัญชีเงินฝากธนาคาร ดังกล่าว แต่ปรากฏว่าไม่มีเงิน

ในบัญชีและภายหลังจากที่ได้รับคำสั่ง ก็มิได้นำส่งเงินเพื่อชำระหนี้ภาษีอากรค้างแต่อย่างใด

ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริงเมื่อนาง ส. ได้ถูกสำนักงานสรรพากรจังหวัดชัยนาทแจ้งให้เสียค่า

อากรและค่าเพิ่มอากรเพิ่มเติม และนาง ส. มิได้นำเงินมาชำระภาษีตามการประเมินเรียกเก็บเมื่อถึง

กำหนดชำระแล้ว จึงถือเป็นหนี้ภาษีอากรค้างซึ่งในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีกรมสรรพากรในเขตท้องที่จังหวัดสั่งยึดหรืออายัดและ

ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรโดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ตามมาตรา

12 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทได้มี

คำสั่งอายัดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ของนาง ส. จึงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย

ดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ดี เนื่องจากนาง ส. ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินจากเจ้าพนักงานประเมินแล้ว

ดังนั้น หากนาง ส. ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ก็มีสิทธิคัดค้านการประเมินได้

โดยต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษี

ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร และหากผู้เสียภาษีอากรมิได้อยู่ในประเทศไทย หรือมีเหตุจำเป็น

จนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาอุทธรณ์ได้ ก็สามารถยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่ออธิบดีกรมสรรพากร

ณ สำนักงานสรรพากรภาค 4 เพื่อขอขยายกำหนดเวลาการยื่นคำอุทธรณ์ ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่ง

ประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/1433 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)