ยึดอายัด ภาษีเงินได้นิติบุคคล การอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีอากรในระหว่างพิจารณาอุทธรณ์
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล การอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีอากรในระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ข้อเท็จจริงบริษัท ก. จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายและให้เช่าซื้อรถยนต์ ค้างชำระภาษีอากรรวมเป็น จำนวนเงิน 16,862,761 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ การประเมินภาษีอากรและยื่นขอทุเลาการชำระภาษีไว้แต่ไม่ได้รับอนุมัติให้ทุเลาการชำระภาษี เจ้าพนักงานจึงได้ทำการอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝาก โดยยังไม่ได้แจ้งกำหนดวันให้ธนาคารนำส่ง เงิน สำนักงานสรรพากรจังหวัดขอทราบว่า กรณีตามข้อเท็จจริง หนี้ภาษีอากรรายนี้อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ จำนวนภาษียังไม่แน่นอน จังหวัดฯ สามารถจะให้ธนาคารนำส่งเงินตามคำสั่งอายัดดังกล่าวได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 12แนววินิจฉัยตามข้อเท็จจริงเมื่อบริษัทฯ มิได้ส่งเงินมาชำระตามการประเมินเรียกเก็บ เมื่อถึง กำหนดเวลาชำระแล้วให้ถือเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง อธิบดีมีอำนาจสั่งยึด หรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรได้ ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯ มี เงินสด ฝากในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเป็นจำนวนเงิน 27,138,438.49 บาท และบัญชีเงินฝาก พิเศษเป็นจำนวนเงิน 500 บาท แต่บริษัทฯ มีหนี้ภาษีอากรรวมเป็นจำนวนเงิน 16,862,761 บาท (ไม่ รวมเงินเพิ่ม) ดังนั้น ในการอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากดังกล่าว จังหวัดฯ ควรที่จะมีคำสั่งอายัด แต่เฉพาะเงินสดในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเท่านั้น เพราะในบัญชีดังกล่าวมีเงินสดคุ้มกับจำนวนภาษีที่ ค้างชำระ และจำนวนเงินที่อายัดควรเท่ากับจำนวนค่าภาษีอากรรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่คำนวณ จนถึงวันที่ธนาคารนำส่งเงินที่อายัดดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 23 (1) ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการเร่งรัดจัดเก็บภาษีอากรค้าง พ.ศ. 2539 และ ข้อ 9 ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2539 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/1060 ลงวันที่ 04 กุมภาพันธ์ 2542 |