ยึดอายัด ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการขอให้ถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการขอให้ถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรข้อเท็จจริงบริษัท ก. จำกัด ได้เช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อปลูกสร้างอาคารและจัดหา ผลประโยชน์บริเวณสถานีรถไฟ โดยเริ่มประกอบธุรกิจปลายปี พ.ศ. 2534 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2540 บริษัทฯ ได้รับคำชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ถูกต้อง และจังหวัดฯ ได้ทำการประเมินบริษัทฯ บริษัทฯ คัดค้านการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานว่า ไม่ถูกต้อง ขณะนี้อยู่ ระหว่างรอผลการวินิจฉัยอุทธรณ์จากกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2541 เจ้าหน้าที่สรรพากรได้ อายัดเงินค่าเช่าอาคารรายเดือนและค่าเช่าที่ดินรายปี เนื่องจากบริษัทฯ ค้างชำระเงินภาษี บริษัทฯ ขอผ่อนผันระยะเวลาการอายัดทรัพย์สินจนกว่าจะได้รับคำวินิจฉัยชี้ขาดการพิจารณาอุทธรณ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 12, มาตรา 31แนววินิจฉัยกรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินแต่ไม่ได้ยื่นขอทุเลาการชำระ ภาษีโดยจัดให้มีหลักประกันการชำระภาษีดังกล่าว เนื่องจากการยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 31 แห่งประมวลรัษฎากร และเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง กรมสรรพากรต้องทำ การเร่งรัดจัดเก็บให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยทำการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียอากรทุกราย ทั้งนี้ ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 23 (1) ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วย การเร่งรัดจัดเก็บภาษีอากรค้าง พ.ศ. 2539 ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ขอให้กรมสรรพากรผ่อนผันการ อายัดทรัพย์สินดังกล่าวจนกว่าจะได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น กรมสรรพากรไม่อาจทำตามที่บริษัทฯ ร้องขอได้ เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/17426 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2541 |