Skip to Content

ยกเว้นอากร ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดการศึกษาร่วมของสถานศึกษา

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดการศึกษาร่วมของสถานศึกษา


ข้อเท็จจริง

1. โรงเรียนฯ มีนาย ป. เป็นผู้รับใบอนุญาต ประเภทโรงเรียนอาชีวศึกษาและกวดวิชา ตามมาตรา 15(2) แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 หลักสูตรของโรงเรียนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการและหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนฯ มีรายได้จากการสอนคอมพิวเตอร์และภาษาต่างประเทศ โดยเป็นการสอนในห้องเรียนที่โรงเรียนฯ นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการสอนที่ไม่ใช่เป็นการเรียนภายในห้องเรียนของโรงเรียนฯ แต่ไปดำเนินการสอนตามสถานที่ที่ผู้เรียนต้องการ

2. จากข้อมูลการตรวจสอบภาษีพบว่า โรงเรียนฯ ได้ทำสัญญาจ้างกับโรงเรียนต่างๆ ดังนี้

2.1 สัญญาจ้างกับโรงเรียน ม. เพื่อรับจ้างจัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนของโรงเรียน ม. ในภาคเรียนที่ 1/2550 โดยใช้หลักสูตรของโรงเรียนฯ สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 95 ห้องเรียน รวมนักเรียนประมาณ 3,305 คน จำนวนเงินค่าจ้างรวม 1,376,000 บาท จัดการเรียนการสอน ณ โรงเรียน ม.

2.2 สัญญาจ้างกับโรงเรียน ม. จัดการเรียนการสอนหลักสูตรคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนของโรงเรียน ม. ในภาคเรียนที่ 1/2550 โดยใช้หลักสูตรของโรงเรียนฯ สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 จำนวน 4 ห้องเรียน รวมนักเรียน 172 คน จำนวนเงินค่าจ้างรวม 224,000 บาท จัดการเรียนการสอน ณ โรงเรียน ม.

2.3 สัญญาจ้างกับโรงเรียนมัธยม ส. เพื่อสอนภาษาต่างประเทศให้กับนักเรียนของโรงเรียนมัธยมฯ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 49 ห้องเรียน รวมนักเรียนประมาณ 2,000 คน จำนวนเงินค่าจ้างรวม 600,000 บาท จัดการเรียนการสอน ณ โรงเรียน ส.

3. จากข้อมูลบนระบบกำกับดูแลเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย ปี 2550 พบว่า โรงเรียนฯ มีข้อมูลการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของโรงเรียนฯ จำนวนเงินได้ทั้งสิ้น 6,334,623.38 บาท โรงเรียนฯ ให้การว่า จำนวนเงินที่ปรากฏตามข้อมูลการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เกิดขึ้นจากโรงเรียนที่ตั้งอยู่หลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีผู้ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนที่ไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน แต่ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีเลขเดียวกันในการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทำให้ข้อมูลการมีเงินได้ทั้งหมดเป็นของเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของโรงเรียนฯ

1. กรณีโรงเรียนฯ มีรายได้ทั่วประเทศ และมีข้อมูลการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายบนระบบกำกับดูแล เลขประจำตัวผู้เสียภาษีเลขเดียวกัน (แต่โรงเรียนฯ ให้ถ้อยคำว่ารายได้ที่ได้รับแต่ละแห่งถือเป็นรายได้ของผู้ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนแต่ละราย) นั้น รายได้ทั้งหมดที่ปรากฏข้อมูลบนระบบกำกับดูแล เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของโรงเรียนต้องถือเป็นรายได้ของนาย ป. ผู้ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนฯ หรือไม่

2. กรณีโรงเรียนฯ ทำสัญญากับโรงเรียน ม. และโรงเรียน ส. รายได้ที่ได้รับจากการสอนภายนอกห้องเรียน ซึ่งไม่ใช่เป็นการสอนในห้องเรียนของโรงเรียนฯ ประกอบกับเป็นการทำสัญญาว่าจ้างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ว่าจ้าง จึงไม่ถือว่าเป็นเงินได้จากกิจการของโรงเรียนราษฎร์ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และรายได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 42 (17) และมาตรา 81(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. เงินได้ของโรงเรียนฯ (โดยนาย ป. ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนฯ) ตามข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย ปีภาษี 2550 บนระบบกำกับดูแล เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ของโรงเรียนฯ จำนวนเงินได้ทั้งสิ้น 6,334,623.38 บาท แต่โรงเรียนฯ อ้างว่า จำนวนเงินที่ปรากฏตามข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังกล่าว เกิดขึ้นจากโรงเรียนแต่ละแห่งมีผู้ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนที่ไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน แต่โรงเรียนฯ อนุญาตให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีในการหักภาษี ณ ที่จ่าย เลขเดียวกัน รายได้ที่ได้รับของแต่ละแห่งจึงถือเป็นรายได้ของผู้ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนแต่ละราย นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานของโรงเรียนฯ หากโรงเรียนฯ ไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่า เงินได้ดังกล่าวไม่ใช่เงินได้ของโรงเรียนฯ ก็ต้องถือว่าเงินได้ทั้งหมดตามข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว เป็นเงินได้ของโรงเรียนฯ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีตาม 2. เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนอกระบบ ตามมาตรา 120 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ซึ่งใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ประกอบกับข้อ 2(4) ของประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่องการกำหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 กำหนดว่า การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูหรือผู้สอน โดยใช้สื่อการเรียนการสอน หรือโดยการเรียนการสอนแบบบูรณาการ โดยมีทั้งครูหรือผู้สอนและสื่อการเรียนการสอน อาจจัดร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน หรือกับหน่วยงานอื่นทั้งในและนอกสถานศึกษาอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน ดังนั้น โรงเรียนฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนนอกระบบตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ได้รับจัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษและหลักสูตรคอมพิวเตอร์ระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนของผู้ว่าจ้าง จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการของโรงเรียนราษฎร์ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ เงินได้ที่โรงเรียนฯ ได้รับตามสัญญาจ้าง จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการให้บริการการศึกษาของโรงเรียนเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ตามมาตรา 81(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/7241 ลงวันที่ 07 กันยายน 2554

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)