ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าช่วงที่ดิน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าช่วงที่ดินข้อเท็จจริงสมาคมฯ เป็นสมาคมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสงค์จะรักษาและส่งเสริมความสามัคคี ในบรรดาหมู่สมาชิกซึ่งเป็นนักเรียนเก่า และนักเรียนปัจจุบันโรงเรียน ท. โดยสมาคมฯ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเป็นการค้าหากำไร สมาคมฯ ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2474 และสมาคมฯ เป็นผู้เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 34 ตารางวา สมาคมฯ ได้ใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวปลูกสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นที่ตั้งของสมาคมฯ ต่อมาคณะกรรมการสมาคมฯ ได้ขอความเห็นชอบจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างอาคารสมาคมฯ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ ในฐานะผู้ให้เช่า สมาคมฯ ในฐานะผู้เช่า และบริษัทฯ ในฐานะผู้เช่าช่วงได้ทำสัญญากันดังนี้ (1) สมาคมฯ ทำหนังสือสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 โดยสมาคมฯ เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินฯ และจะต้องดำเนินการร่วมกับบริษัทฯในฐานะผู้เช่าช่วงเพื่อก่อสร้างอาคารส่วนของบริษัทฯ จำกัด และอาคารส่วนของสมาคมฯ และโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ โดยตรง และสมาคมฯ จะชำระค่าเช่าให้แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ ในอัตราที่กำหนดในสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ ยินยอมให้สมาคมฯ ใช้ที่ดินและอาคารส่วนของสมาคมฯ รวมทั้งสิ่งก่อสร้างตลอดระยะเวลาการเช่า 30 ปี (2) สมาคมฯ ทำสัญญาเช่าช่วงเพื่อการพัฒนากับบริษัทฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 โดยสมาคมฯ ให้เช่าช่วงที่ดินแก่บริษัทฯ เพื่อก่อสร้างอาคารทั้งส่วนของบริษัทฯ ที่จะใช้ประโยชน์และอาคารส่วนของสมาคมฯ และโอนกรรมสิทธิ์ของอาคารและสิ่งก่อสร้างทั้งหมดให้แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ ในฐานะเจ้าของที่ดินโดยตรง และบริษัทฯ จะต้องชำระค่าเช่าช่วงรวมทั้งเงินชดเชยการใช้สอยพื้นที่ระหว่างก่อสร้างให้แก่สมาคมฯ ตามอัตราที่กำหนดในสัญญา (3) สำนักงานทรัพย์สินฯ และบริษัทฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 โดยตกลงกันว่า บริษัทฯ ได้รับทราบและยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สมาคมฯ และบริษัทฯ มีอยู่กับสำนักงานทรัพย์สินฯ ตามหนังสือสัญญาเช่าเพื่อการลงทุน มิฉะนั้น บริษัทฯ ยินยอมให้สำนักงานทรัพย์สินฯ บอกเลิกข้อตกลงการเช่าช่วงต่อบริษัทฯ ได้ และบริษัทฯ ตกลงจะชำระค่าตอบแทนการอนุญาตให้เช่าช่วงแก่สำนักงานทรัพย์สินฯ โดยตรงด้วยในส่วนของนิติสัมพันธ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำนักงานทรัพย์สินฯ จะมีฐานะเป็นผู้ให้เช่า สมาคมฯ จะมีฐานะเป็นผู้เช่า และบริษัทฯ จะมีฐานะเป็นผู้เช่าช่วงตลอดระยะเวลาการเช่า ซึ่งเอกสารสัญญาก็ระบุสถานะของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน เมื่อการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จและบริษัทฯ ประสงค์จะจดทะเบียนการเช่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ก็จะปรากฏเป็นผู้ให้เช่า สมาคมฯ จะปรากฏเป็นผู้เช่า และบริษัทฯ จะปรากฏเป็นผู้เช่าช่วงตามทะเบียนการเช่าที่ดินดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ ในการติดต่อประสานงานบริษัทฯ จะต้องติดต่อกับสมาคมฯ เท่านั้น เนื่องจากสมาคมฯ มีฐานะเป็นผู้เช่าของสำนักงานทรัพย์สินฯ ตลอดเวลา และบริษัทฯ ไม่มีนิติสัมพันธ์โดยตรงกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เว้นแต่การเป็นผู้เช่าช่วงและตามบันทึกข้อตกลงฯ ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เท่านั้น ซึ่งผลของการเช่าช่วงที่ผู้เช่าช่วงได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าตามมาตรา 545 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งตามข้อเท็จจริง สมาคมฯ มิได้โอนสิทธิการเช่าให้แก่บริษัทฯ แต่อย่างใด เงินค่าเช่า (ค่าเช่าช่วง) ที่สมาคมฯ ได้รับจากบริษัทฯ ก็เป็นเพียงค่าตอบแทนจากการให้เช่าช่วงที่ดิน สมาคมฯ ขอหารือว่า ความเห็นดังต่อไปนี้ของสมาคมฯ ถูกต้องหรือไม่ 1. ค่าเช่า (ค่าเช่าช่วง) และเงินชดเชยการใช้สอยพื้นที่ระหว่างการก่อสร้างที่สมาคมฯ ได้รับในฐานะผู้เช่าตามสัญญาเช่าช่วงเพื่อการพัฒนาถือเป็นรายรับของสมาคมฯ และอยู่ในบังคับจะต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 10 ของยอดรายรับ 2. ค่าเช่า (ค่าเช่าช่วง) และเงินชดเชยการใช้สอยพื้นที่ตามข้อ (2) ถือเป็นเงินได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร 3. มูลค่าอาคารและสิ่งก่อสร้างที่บริษัทฯ จะก่อสร้างขึ้นและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ โดยตรงตามสัญญาและตามบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างสำนักงานทรัพย์สินฯ และบริษัทฯ ไม่ถือเป็นรายรับของสมาคมฯ ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 10 ของยอดรับแต่อย่างใด กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. ค่าเช่า (ค่าเช่าช่วง) และเงินชดเชยการใช้สอยพื้นที่ระหว่างการก่อสร้างที่สมาคมฯ ได้รับจากบริษัทฯ ตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินเพื่อการพัฒนาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เข้าลักษณะเป็นรายได้ของสมาคมฯ และอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตาม (2)(จ) ของบัญชีอัตราภาษีเงินได้ แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีสมาคมฯ ได้สิทธิการเช่าที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ และสมาคมฯ นำที่ดินดังกล่าวไปให้บริษัทฯ เพื่อเช่าช่วงตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินเพื่อการพัฒนาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งถือว่า เป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งอันเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร สมาคมฯ จึงไม่ต้องนำค่าเช่า (ค่าเช่าช่วง) และเงินชดเชยการใช้สอยพื้นที่ระหว่างการก่อสร้างที่ได้รับจากบริษัทฯ ไปรวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 3. กรณีบริษัทฯ จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารและสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นทั้งหมดให้แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ ทันทีเมื่อก่อสร้างเสร็จตามสัญญาเช่าช่วงที่ดินเพื่อการพัฒนาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 และบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานทรัพย์สินฯ กับบริษัทฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 มูลค่าอาคารและสิ่งก่อสร้างที่บริษัทฯ จะก่อสร้างขึ้นและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ โดยตรง ไม่ถือเป็นรายได้ของสมาคมฯ ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/2495 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2549 |