ภาษีซื้อ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคาร
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคารข้อเท็จจริงบริษัท ว. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้เช่าที่ดินของนางสาว ร. (ผู้ให้เช่า) ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฯ เพื่อปลูกสร้างอาคารเก็บสินค้า มีกำหนดเวลา 20 ปีนับจากอาคารเก็บสินค้าสร้างเสร็จสมบูรณ์ โดยบริษัทฯ เป็นผู้ขออนุญาตการก่อสร้างและทำการก่อสร้าง ผู้ให้เช่ายินยอมให้บริษัทฯ เช่าโดยไม่คิดมูลค่าและในระหว่างสัญญาเช่ากรรมสิทธิ์ในอาคารเก็บสินค้าจะเป็นของบริษัทฯ และเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง กรรมสิทธิ์ในอาคารจะเป็นของผู้ให้เช่า บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ สามารถนำเอาหลักฐานใบกำกับภาษีที่ได้จากการซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมาเป็นหลักฐานของต้นทุนของอาคารในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 82/3 มาตรา 86 มาตรา 86/4 และมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีบริษัทฯ เช่าที่ดินและก่อสร้างอาคารเก็บสินค้า หากบริษัทฯ ได้รับใบกำกับภาษีที่มีรายการถูกต้องและครบถ้วนจากการซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างจากผู้ประกอบการที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นภาษีซื้อหักจากภาษีขายได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/3 มาตรา 86 และมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับต้นทุนค่าก่อสร้างอาคารทั้งหมดเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยกรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของบริษัทฯ อยู่ตลอดระยะเวลาการให้เช่า บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ หากก่อสร้างเสร็จในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีก็ให้คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้มาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุน ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/11037 ลงวันที่ 01 พฤศจิกายน 2550 |