Skip to Content

ภาษีซื้อต้องห้าม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคาร

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคาร


ข้อเท็จจริง

กรณีการหักค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคาร ราย คณะบุคคลอาคาร โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้

ดังนี้

1. นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ได้ก่อสร้างอาคารเพื่อทำเป็น

สำนักงาน โดยมอบหมายให้ นาย ก. เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และต่อมาได้ขอจดทะเบียน

คณะบุคคลอาคาร โดยมี นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. เป็นหุ้นส่วนเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับอาคาร

โดยมีวัตถุประสงค์ให้เช่าอาคาร ทั้งนี้ คณะบุคคลอาคารได้คำนวณเสียภาษีเงินได้โดยหักค่าใช้จ่ายตาม

จริง คณะบุคคลอาคารจึงหารือว่า

1.1 ในการหักค่าเสื่อมราคาของอาคารจะหักเป็นค่าใช้จ่ายในนามคณะบุคคลอาคารได้

หรือไม่ และจะใช้หลักฐานใดประกอบการหักค่าเสื่อมราคาดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาคณะบุคคลอาคาร

มิได้นำค่าเสื่อมราคามาหักเป็นค่าใช้จ่าย และไม่มีเอกสารค่าก่อสร้างเก็บไว้เป็นหลักฐาน

1.2 กรณีคณะบุคคลอาคาร ทำสัญญาเช่าที่ดินและอาคารจากบุคคลทั้งสาม คือ นาย ก.

นาย ข. และ นาย ค. หากบุคคลทั้งสามจะนำรายได้ค่าเช่าไปเสียภาษีเงินได้โดยหักค่าใช้จ่ายตามจริง

จะต้องปฏิบัติอย่างไรในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ในส่วนของอาคารจะต้องทำสัญญาเช่าจากบุคคลทั้งสามหรือจาก นาย ก.

แต่เพียงผู้เดียว และกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารจะใช้เอกสารใดเป็นตัวบ่งชี้

(2) ในการหักค่าเสื่อมราคาและภาษีโรงเรือน บุคคลทั้งสามจะสามารถนำมาหัก

เป็นค่าใช้จ่ายตามจริงได้หรือไม่ หรือ นาย ก. แต่เพียงผู้เดียวที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40(5)(ก), มาตรา 43, มาตรา 56

แนววินิจฉัย

1. กรณี นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน ได้ก่อสร้าง

อาคารขึ้น โดยมอบหมายให้ นาย ก. เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และต่อมาได้ขอจดทะเบียน

คณะบุคคลอาคาร โดยมี นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. เป็นหุ้นส่วนเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับอาคาร

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เช่าอาคาร เป็นกรณีคณะบุคคลอาคารประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สิน มี

เงินได้จากการให้เช่าอาคาร เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่ง

ประมวลรัษฎากร คณะบุคคลอาคารจะต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน

นามของคณะบุคคล โดยสามารถคำนวณหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 30 เว้นแต่กรณีมี

หลักฐานและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร

โดยนำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งคณะบุคคล

อาคารสามารถนำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคารมาหักได้ไม่เกินอัตราร้อยละของต้นทุนตาม

ประเภทของทรัพย์สินที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 หากหลักฐานที่นำมาพิสูจน์

นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียง

เท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 43 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 5 แห่ง

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ดังนั้น เมื่อคณะบุคคลอาคารไม่มีหลักฐานในการก่อสร้าง

อาคาร ก็ไม่สามารถทราบราคาต้นทุนของอาคารได้คณะบุคคลอาคารปิยะมิตรจึงไม่สามารถนำ

ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคารมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้แต่อย่างใด

2. กรณีคณะบุคคลอาคาร ซึ่งมี นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. เป็นหุ้นส่วนร่วมกัน มี

วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการให้เช่าอาคาร โดยอาคารดังกล่าวได้ปลูกสร้างลงบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์

รวมของ นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของเจ้าของ

เดียวกัน คือ นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ดังนั้น กรณีคณะบุคคลอาคารจะทำสัญญาเช่าที่ดินและ

อาคารจากบุคคลทั้งสาม โดยให้บุคคลทั้งสามดังกล่าวนำรายได้ค่าเช่ามาคำนวณเสียภาษีเงินได้และหัก

ค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร จึงเป็นกรณีการทำสัญญาเช่าและนำเงินได้ที่ได้รับจากการให้เช่า

อาคารมาคำนวณเสียภาษีเงินได้จากหน่วยภาษีเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมิน

ที่ได้รับจากการให้เช่าอาคารดังกล่าว คณะบุคคลอาคารจะต้องนำมายื่นรายการเพื่อเสียภาษีในนามของ

คณะบุคคล เสมือนเป็นบุคคลคนเดียวไม่มีการแบ่งแยก โดยผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลดังกล่าว

แต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการให้เช่าอาคาร

ดังกล่าวเพื่อเสียภาษีอีกตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/8946 ลงวันที่ 28 กันยายน 2547

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)