ภาษีซื้อต้องห้าม ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ประกอบกิจการขาย วัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง บริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารของบริษัทฯ โดยสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2541 และเปิดขายสินค้าในเดือนกันยายนและตุลาคม 2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 ได้ขายอาคารหลังดังกล่าวไปบริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1. ภาษีซื้อวัสดุเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารที่บริษัทฯ ขายไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 บริษัทฯ จะนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่ง ประมวลรัษฎากรไม่ได้นั้น บริษัทฯ จะนำภาษีซื้อดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นต้นทุนของอาคารได้หรือไม่ 2. ภาษีซื้อที่เกิดจากการสร้างบ้านพักชั่วคราวให้คนงาน ล้อมรั้วชั่วคราวรอบบริเวณที่ ก่อสร้าง ทำแบบก่อสร้างและเศษวัสดุที่เหลือในการก่อสร้าง เช่น เหล็ก กระเบื้อง ภาษีซื้อดังกล่าว สามารถใช้เป็นเครดิตภาษีขายได้หรือไม่ และหากในกรณีดังกล่าวบริษัทฯ จะต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม บริษัทฯ ก็ขอให้กรมสรรพากรพิจารณางดเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้ด้วย กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 82/5(6), มาตรา 65 ตรี (6 ทวิ)แนววินิจฉัย1. บริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารขึ้นเพื่อใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและ บริษัทฯ ได้ขายอาคารดังกล่าวไปภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้ออันเกิดจาก การก่อสร้างอาคาร ซึ่งรวมถึงภาษีซื้อจากการก่อสร้างบ้านพักคนงานชั่วคราว การล้อมรั้วชั่วคราวรอบ บริเวณก่อสร้าง การทำแบบก่อสร้างและจากเศษวัสดุที่เหลือใช้ในการก่อสร้าง ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามนำ ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และ ตามข้อ 2 (4) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนด ภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 98)ฯ ลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้เครดิตภาษีซื้ออันเกิดจาก การก่อสร้างอาคารดังกล่าวไปแล้ว บริษัทฯ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30) สำหรับเดือนภาษีกรกฎาคม 2540 ถึง ตุลาคม 2541 เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงภาษีซื้อโดยนำภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่บริษัทฯ ได้นำไปใช้ในการเครดิตภาษีในแต่ละเดือนมา แสดงในแบบแสดงรายการที่ยื่นเพิ่มเติม โดยต้องเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร 2. บริษัทฯ นำภาษีซื้อต้องห้ามตามข้อเท็จจริงดังกล่าว มาเป็นรายจ่ายหรือต้นทุนของ ทรัพย์สินได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 แห่ง พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีซื้อที่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิ (ฉบับที่ 243) พ.ศ.2534 3. เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ประกอบกับการขอคืนภาษีซื้อดังกล่าวไม่ได้ ขอคืนภาษีเป็นเงินสด จึงให้งดเบี้ยปรับที่บริษัทฯ จะต้องเสียตามมาตรา 89 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ตามมาตรา 89 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 สำหรับเงินเพิ่มไม่อาจงดให้แก่บริษัทฯ ได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/3524 ลงวันที่ 03 พฤษภาคม 2543 |