Skip to Content

ผลเสียหาย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ


ข้อเท็จจริง

บริษัท ส. ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตยารักษาโรค บริษัทฯ มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ในการขายสินค้า พนักงานขายของบริษัทฯ จะเป็นผู้ไปติดต่อขายสินค้าพร้อมทั้งเก็บเงินจากลูกค้า แต่เนื่องจากพนักงานขายของบริษัทฯ คนหนึ่งได้ฉ้อโกงบริษัทฯ โดยทำให้บริษัทฯ หลงเชื่อว่า มีลูกค้าสั่งซื้อสินค้า บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีพร้อมทั้งจัดส่งสินค้าดังกล่าวไปให้แก่ลูกค้า มูลค่าสินค้าที่บริษัทฯ เสียหาย รวมเป็นเงิน 711,377.60 บาท บริษัทฯ ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และมีการออกหมายจับพนักงานขายที่กระทำผิดในกรณีนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ต่อมาบริษัทฯ และพนักงานอัยการได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล จนทำให้พนักงานขายผู้ซึ่งถูกฟ้องรับสารภาพในชั้นศาลพร้อมทั้งยินยอมผ่อนชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยจะชำระเป็นงวดๆ ละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 3 ปี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2547 บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. บริษัทฯ จะนำมูลค่าสินค้าที่บริษัทฯ ต้องเสียหายจากการถูกฉ้อโกง ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ และเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด

2. เงินที่บริษัทฯ ได้รับชดใช้คืนจากพนักงานขาย ถือเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ และเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. พนักงานขายของบริษัทฯ ได้ฉ้อโกงบริษัทฯ ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย บริษัทฯ จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ต่อมาบริษัทฯ และพนักงานอัยการได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล ในที่สุดพนักงานขายคนดังกล่าวได้รับสารภาพในชั้นศาลพร้อมทั้งยินยอมผ่อนชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น กรณีถือได้ว่าเป็นผลเสียหายอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ หากผลเสียหายดังกล่าว บริษัทฯ ไม่อาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(12) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผลเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งได้แก่รอบระยะเวลาบัญชีที่พนักงานขายฉ้อโกงบริษัทฯ เป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย มิใช่ในรอบระยะเวลาบัญชีที่การดำเนินคดีความสิ้นสุดลงแต่อย่างใด

2. กรณีพนักงานขายยินยอมผ่อนชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยจะชำระเป็นงวดๆ ละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 3 ปี บริษัทฯ ต้องนำเงินที่ได้รับจากการผ่อนชำระดังกล่าวมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/5555 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)