Skip to Content

ผลเสียหายจากประกอบกิจการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลเสียหายจากการประกอบกิจการ

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลเสียหายจากการประกอบกิจการ


ข้อเท็จจริง

ผู้จัดการฝ่ายบริหารที่เป็นพนักงานของบริษัท ว. (บริษัทฯ) ได้ปลอมเอกสารและฉ้อโกง เงินของบริษัทฯ เป็นเงิน 32,100,000 บาท และพนักงานอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพนักงานคน ดังกล่าวต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในฐานความผิดฉ้อโกง ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เนื่องจากการกระทำของพนักงานดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย พนักงานอัยการฯ จึงมีคำขอท้ายฟ้อง ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนเงินที่ฉ้อโกงไปให้แก่บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ จะนำค่าเสียหายที่ฟ้องร้องดังกล่าว ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้หรือไม่ ถ้าได้จะต้องถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

กรณีบริษัทฯ ถูกพนักงานฉ้อโกง เป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย และพนักงานอัยการได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล โดยคำขอท้ายฟ้องได้ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนเงิน จำนวน 32,100,000 บาท ที่ได้ฉ้อโกงบริษัทฯ ไปนั้น ถือได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นผลเสียหายอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ หากผลเสียหายดังกล่าว บริษัทฯ ไม่อาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(12) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผลเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งได้แก่รอบระยะเวลาบัญชีที่พนักงานฉ้อโกงและเมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้นำจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระแล้วนั้น ไปลงเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/8080 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)