ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ข้อเท็จจริงเมื่อปี พ.ศ. 2538 นาย ส. ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารฯ โดยนำที่ดิน น.ส.3 ก จังหวัดสงขลา เนื้อที่ดินประมาณ 30 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา ของนาย อ. ผู้เป็นบิดาไปจดทะเบียนค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 นาย อ. ได้เสียชีวิต นาย ส. ได้ดำเนินการขอรับมรดกแต่ยังไม่แล้วเสร็จ จนถึงปี พ.ศ. 2545 นาย ส. ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งแรกพร้อมกับการจดทะเบียนรับโอนมรดก ซึ่งในขณะจดทะเบียนรับโอนมรดกนาย ส. ได้ไถ่ถอนจำนองแล้ว และนาย ส. ได้นำที่ดินแปลงซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ส. ในฐานะผู้รับมรดกไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคารฯ เพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้ฉบับเดิม ในขณะที่มีการไถ่ถอนจำนองนาย ส. ไม่ได้ชำระหนี้ให้ธนาคารฯ ต่อมาธนาคารฯ ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับนาย ส. อีกครั้ง จากนั้นนาย ส. ได้นำที่ดินดังกล่าวไปขายให้แก่นางอรอนงค์ แซ่กี่ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้ธนาคารฯ ภายในปี 2548 กฎหมายที่เกี่ยวข้องประเด็นปัญหา พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548แนววินิจฉัยนาย ส. ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารฯ โดยนำที่ดินของนาย อ. (บิดา) จำนองค้ำประกันหนี้ดังกล่าวในปี พ.ศ. 2538 ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 นาย อ. ได้เสียชีวิต นาย ส. ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งแรกพร้อมทั้งจดทะเบียนรับโอนมรดกระหว่างจำนอง ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารฯ และจำนองเป็นประกันกับธนาคารฯ ในวันที่ 30 กันยายน 2545 ในปี พ.ศ. 2548 นาย ส. ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้อีกครั้ง จากนั้นได้นำที่ดินดังกล่าวไปขายให้นาง น. เพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารฯ กรณีดังกล่าวเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่นาย ส. นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของธนาคารฯ หลังวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ และการกระทำตราสารตามมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 433) พ.ศ. 2548 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6945 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2549 |