Skip to Content

ประเภทเงินได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย


ข้อเท็จจริง

มหาวิทยาลัยฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย เงินค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยการแปรรูปเพื่อส่งเสริมการส่งออก งวดที่ 1 จากเงินยืมของ รศ.ดร.ก.หัวหน้าโครงการฯ

ดังกล่าวนำส่งกรมสรรพากรแล้วเป็นเงินจำนวน 60,000 บาท จากยอดเงิน 2,000,000 บาท ต่อมา มหาวิทยาลัยฯ ได้รับแจ้งจากหัวหน้าโครงการฯ ว่า การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณี

ดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากหัวหน้าโครงการฯ ได้รับค่าจ้างเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 1,600,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการเพื่อใช้ในการ

จัดหาและปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องมือการผลิตวิสาหกิจชุมชน 8 แห่ง ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานตามระบบ GMP ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งกองคลังได้มีหนังสือชี้แจงต่อหัวหน้า

โครงการฯ ว่า กองคลังได้นำส่งภาษีจำนวนดังกล่าวต่อกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว และไม่สามารถเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนได้ มหาวิทยาลัยฯ จึงหารือว่า กรณีดังกล่าวจะมีวิธีดำเนินการเกี่ยวกับภาษี

เงินได้หัก ณ ที่จ่ายและนำส่งไปแล้วอย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40(2) และมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

มหาวิทยาลัยฯ ได้จ่ายค่าจ้างที่ปรึกษาฯ ให้หัวหน้าโครงการฯ เพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยการแปรรูปเพื่อส่งเสริมการส่งออก เงินค่าจ้างที่หัวหน้าโครงการฯ ได้รับเข้าลักษณะเป็น

เงินได้จากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้

พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท ดังนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยฯ จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้หัวหน้าโครงการฯ ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายตาม

มาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี หากเงินค่าจ้างที่ปรึกษาฯ ที่หัวหน้าโครงการฯ ได้รับนั้น ต้องนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารหรือการดำเนินงานอันทำให้เกิดเงินได้ซึ่งมี

ค่าใช้จ่ายจำนวนสูง เช่น จ่ายเป็นค่าจ้างให้คณะที่ปรึกษาฯ จ่ายเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ให้แก่ลูกจ้าง พนักงาน จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ของสำนักงาน ค่ารับรอง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นใด

ที่จ่ายเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฯ ซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งปีแล้วสูงกว่าอัตราร้อยละ 40 เงินค่าจ้างที่หัวหน้าโครงการฯ ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(8)

แห่งประมวลรัษฎากร สามารถหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้

พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 มหาวิทยาลัยฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 จากจำนวนค่าจ้างที่ปรึกษาฯ ที่จ่ายทั้งจำนวน ตามมาตรา 50(4)

แห่งประมวลรัษฎากร และผู้มีเงินได้มีสิทธินำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ถูกหักและนำส่งไปแล้วนั้น ไปเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้

ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/261 ลงวันที่ 13 มกราคม 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)