ประเภทเงินได้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินได้ตามคำพิพากษา
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินได้ตามคำพิพากษาข้อเท็จจริงบริษัทฯ ต้องชำระค่าจ้างรับเหมาทาสีอาคารตามคำพิพากษา เป็นเงิน 687,111.80 บาท โดยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ด้วยวิธีผ่อนชำระ แต่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงขอทราบว่า 1. ในการผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษา บริษัทฯ ในฐานะจำเลย เป็นผู้จ่ายเงินได้ มีหน้าที่ หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ หากมีหน้าที่ แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้หักโดยอ้างคำพิพากษาตามยอม บริษัทฯ จะ ปฏิบัติอย่างไร 2. หากมีข้อเท็จจริงว่าโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยลด ยอดหนี้ลงจากจำนวนที่ค้างชำระจริง การผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยผู้จ่าย เงินมีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 3 เตรส, มาตรา 40, มาตรา 54, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯแนววินิจฉัยเงินได้จากสัญญาประนีประนอมยอมความตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเงินได้ตามสัญญา รับจ้างทำของ ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร แม้จะมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยลดยอดหนี้ลงจากจำนวนที่ค้างชำระจริง ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินที่จ่าย ทั้งนี้ ตามข้อ 8 (2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่ถ้าปรากฏว่า บริษัทฯ ผู้จ่ายมิได้หัก และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว บริษัทฯ ผู้จ่าย เงินได้ต้องรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกับผู้มีเงินได้ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 54 ประกอบด้วยมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/02308 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2542 |