ประเภทเงินได้พึงประเมิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการเป็นตัวแทนประกันชีวิต
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการเป็นตัวแทนประกันชีวิตข้อเท็จจริงกรณี นาย ก. ประกอบอาชีพเป็นตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิต ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเข้าใจว่าค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และได้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 มา โดยตลอด โดยมิได้เก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายไว้ ต่อมาได้มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 115/2545 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้า ประกันชีวิต ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2545 กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร นาย ก. ไม่สามารถหาหลักฐานค่าใช้จ่ายเพื่อพิสูจน์รายจ่ายได้ และไม่สามารถขอให้ผู้รับเงินออก ใบเสร็จรับเงินย้อนหลังได้ในช่วงปีภาษี 2545 จึงขอให้กรมสรรพากรผ่อนผันการชำระภาษีสำหรับปีภาษี 2545 และให้ถือว่าการชำระภาษีในปีดังกล่าวถูกต้องแล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(1), มาตรา 40(2), มาตรา 40(8), มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 65 ตรี, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502แนววินิจฉัย1. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทประกันชีวิตหรือ บุคคลใด ๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของ ค่าตอบแทนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท และในกรณีที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับ เงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จากนายจ้างอื่นด้วย ให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตาม มาตรา 40(1) และมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการเหมาได้อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้ที่ได้รับ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท 2. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน มีหลักฐานในการประกอบกิจการที่แสดงให้เห็น ได้ชัดแจ้งว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจ และสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการ ประกอบกิจการได้ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการดังนี้ (1) ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและ (2) ได้จัดตั้งสำนักงานในการประกอบกิจการโดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของ ตนเองหรือเช่าจากบุคคลอื่นโดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน และ (3) มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และ (4) มีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการโดยมีหลักฐานตาม สัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่มีภาษีที่ต้อง หัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตาม ภ.ง.ด.1 ก. และ (5) มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรองหรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ใน การติดต่องานกับลูกค้า และ (6) มีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่าย แทนให้ ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากบริษัทประกันชีวิตในการ ประกอบกิจการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำ มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจาก เงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งหากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่เป็น บุคคลธรรมดาไม่สามารถพิสูจน์รายจ่ายและไม่มีหลักฐานในการประกอบกิจการตามที่กล่าวแล้วข้างต้นมา พิสูจน์ให้เห็นได้ เงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีที่ท่านยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่านายหน้าที่ได้รับจาก บริษัทประกันชีวิตโดยหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 ของเงินได้ จึงไม่ใช่ การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราตามที่กฎหมายกำหนด และกรมสรรพากรไม่อาจพิจารณาให้ถือว่า การเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราดังกล่าวเป็นการเสียภาษีที่ถูกต้องแล้วได้ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6632 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2547 |