ประเภทเงินได้พึงประเมิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการรับทำงานให้
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการรับทำงานให้ข้อเท็จจริงกรณีนาย บ. ได้นำรถยนต์บรรทุกของบริษัท ใช้ขนส่งสินค้าตามที่บริษัทจะให้ทำการขนส่ง แล้วแต่บริษัทจะสั่งให้ไปขนส่งสินค้าจากที่ใด โดยได้รับเงินค่าจ้างคิดตามน้ำหนักสินค้าที่ขนส่งประกอบกับ ระยะทางตามที่กำหนด และนาย บ. ไม่ได้ประกอบกิจการอื่นใดอีก จึงเข้าลักษณะเป็นผู้รับขนส่ง เพื่อ บำเหน็จตามมาตรา 608 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เนื่องจากนาย บ. ไม่ได้ดำเนินการ เป็นทางค้าปกติของตน เพราะนาย บ. ได้รับจ้างเฉพาะจากบริษัทแต่เพียงรายเดียว ประกอบกับไม่มี รถยนต์บรรทุกเป็นของตนเอง แต่นำรถยนต์บรรทุกของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างไปดำเนินการขนส่งสินค้า อีกทั้งในการรับเงินบำเหน็จหรือค่าจ้าง นาย บ. ได้รับเพียงร้อยละ 37 ของค่าจ้างขนส่งโดยไม่ได้รับ เต็มจำนวน นาย บ. จึงมิใช่ผู้ประกอบกิจการขนส่ง ตามมาตรา 608 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เงินได้ของนาย บ. ที่ได้รับจากบริษัท จึงเป็น เงินได้จากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องคำนวณหักค่าใช้จ่ายเป็น การเหมาในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000.-บาท ตามมาตรา 42 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จึง หารือว่า ความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(2) มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีนาย บ. ขนส่งสินค้าให้บริษัทฯ โดยใช้รถยนต์บรรทุก 10 ล้อ ที่นาย บ. อ้างว่า ได้เช่า จากบริษัท ซึ่งต้องมีการประกันของเสียหายในแต่ละครั้งที่ขนส่งและกำหนดจ่ายค่าจ้างทุก 15 วัน พร้อม ออกหลักฐานการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้เดือนละ 1 ครั้ง การดำเนินการดังกล่าวมุ่งที่จะปฏิบัติเพื่อ ผลสำเร็จของงานมากกว่าที่จะขนสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว ถือได้ว่าเป็นการ รับจ้างทำของตามมาตรา 587 มาตรา 588 และมาตรา 602 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีนาย บ. มิได้เป็นลูกจ้างและบริษัทฯ มิได้เป็นนายจ้าง การประกอบการของนาย บ. จึงมิใช่ จ้างแรงงานตามมาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกรณีดังกล่าวก็มิใช่การขนส่งตาม มาตรา 610 และมาตรา 611 ซึ่งผู้ขนส่งจะได้รับค่าจ้างเป็นค่าระวางพาหนะ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายอย่างใด ๆ ที่ผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง ดังนั้น เงินที่ได้รับจากการประกอบกิจการของนาย บ. ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น เงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ถ้าประกอบกิจการเป็นประจำในเชิงธุรกิจ หรือการประกอบกิจการ ดังกล่าวพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เงินได้ซึ่งได้รับจากการประกอบกิจการจึง เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ตาม ความจำเป็นและสมควรตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/5850 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2547 |