Skip to Content

ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพิ่มเติม

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพิ่มเติม


ข้อเท็จจริง

บริษัท ท. ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทฯ มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดทุกวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 บริษัท ท. ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้

1. เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 บริษัท ท. ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีแรก (ภ.ง.ด.51) แสดงยอดขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2548 จำนวน 59,626.94 บาท แสดงยอดขาดทุนสุทธิครึ่งปีจำนวน 29,813.47 บาท ยอดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 924 บาท และยอดภาษีเงินได้ถูกหัก ณที่จ่าย ชำระไว้เกินจำนวน 924 บาท

2. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 บริษัท ท. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับปี 2548 (ภ.ง.ด. 50) แสดงยอดกำไรสุทธิจำนวน 67,035.04 บาท ยอดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณได้จากกำไรสุทธิจำนวน 10,055.26 บาท ยอดภาษีเงินได้ถูกหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 26,535 บาท และยอดภาษีเงินได้ถูกหัก ณ ที่จ่าย ชำระไว้เกินจำนวน 16,479.74 บาท

3. เนื่องจากยอดรายรับของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม ปี 2548 เพิ่มขึ้น หรือลดลง มีผลทำให้กำไรขาดทุนสุทธิสำหรับปีของกิจการเปลี่ยนแปลงไปด้วยและบริษัท ท. ต้องการปรับปรุงแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 สำหรับปี 2548 เพื่อมิให้แสดงยอดประมาณการกำไรสุทธิสำหรับปี2548 ขาดเกินร้อยละ 25 เมื่อเปรียบเทียบกับยอดกำไรสุทธิสำหรับปี 2548 ตามแบบ ภ.ง.ด.50 บริษัท ท. จึงได้ทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ฉบับเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 แสดงยอดกำไรสุทธิสำหรับปี 2548 จำนวน 160,075.51 บาท ยอดกำไรสุทธิสำหรับครึ่งปี จำนวน 80,037.76 บาท ยอดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณได้จากกำไรสุทธิจำนวน 12,005.66 บาท ยอดภาษีเงินได้ถูกหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 13,746.50 บาท และยอดภาษีเงินได้ถูกหัก ณ ที่จ่าย ชำระไว้เกินจำนวน 1,740.84 บาท

4. บริษัท ท. ไม่เคยถูกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานประเมินเรื่องการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 สำหรับปี 2548 แต่อย่างใด

บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ในการพิจารณาว่า บริษัท ท. ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีโดยแสดงผลประมาณการขาดเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิปลายงวดหรือไม่ จะต้องนำแบบแสดงรายการเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ฉบับเพิ่มเติม มารวมพิจารณาหรือไม่และกรณีดังกล่าว บริษัท ท. จะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 67 ทวิ และมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัท ท. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ประมาณการกำไรสุทธิภายในกำหนดเวลาและได้มีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติมซึ่งเกินกำหนดเวลาตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ในการพิจารณาว่า บริษัท ท. ยื่นแบบประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ จะต้องนำแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติมดังกล่าว มารวมพิจารณาเปรียบเทียบด้วย

2. กรณีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับเพิ่มเติม เป็นการยื่นแบบตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เกินกำหนดเวลา บริษัท ท. จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/11035 ลงวันที่ 01 พฤศจิกายน 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)