ประกอบกิจการในประเทศไทย ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดหาแหล่งเงินกู้
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดหาแหล่งเงินกู้ข้อเท็จจริง1. บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารและสถาบันการเงินจำนวน 8 แห่ง เป็นเงิน 291.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาสินเชื่อซึ่งมีทั้งธนาคารไทยและธนาคารต่างประเทศเป็นผู้ให้กู้ โดยนำเงินฝากประเภทออมทรัพย์และหุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน ในการกู้ยืมเงินดังกล่าว มีธนาคาร DK ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ในประเทศไทย เป็นตัวแทนจัดหาแหล่งเงินกู้ (Facility Agent) และ ธนาคาร DT เป็นตัวแทนหลักประกัน (Security Agent) โดยทั้ง 2 สาขา มีหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าว ดังนี้ 1.1 ธนาคาร DK ตัวแทนจัดหาแหล่งเงินกู้ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ดูแลให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ของสัญญาสินเชื่อหรือสัญญากู้เงิน ได้แก่ การชำระดอกเบี้ย การชำระคืนเงินต้น การดำรงอัตราส่วนทางการเงิน การดำรงเงินสด การไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นข้อห้ามตามสัญญากู้เงิน เป็นต้น จนกว่าจะสิ้นสุดสัญญากู้เงิน หรือจนกระทั่งบริษัทฯ ชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว โดย ธนาคาร DK จะได้รับชำระค่าบริการจากบริษัทฯ ดังนี้ (1) ค่าธรรมเนียมตัวแทนสินเชื่อจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยหักจากเงินกู้ที่บริษัทฯ ได้รับจากเจ้าหนี้ (2) ค่าที่ปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อการซื้อหุ้น UBC จำนวน 500,000 เหรียญสหรัฐ โดยหักจากเงินกู้ที่บริษัทฯ ได้รับจากเจ้าหนี้ (3) ร้อยละ 2.1 ของจำนวนเงินกู้ คิดเป็นจำนวนเงิน 6,113,100 เหรียญสหรัฐ โดยหักจากเงินกู้ที่บริษัทฯ ได้รับจากเจ้าหนี้ 1.2 ธนาคาร DT ตัวแทนหลักประกัน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ในการจดจำนำและดูแลรักษาหลักประกันเงินกู้ที่บริษัทฯ กู้มาเพื่อซื้อหุ้นของ UBC และเมื่อบริษัทฯ ชำระหนี้เงินกู้คืนแก่เจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว ธนาคาร DT ต้องดำเนินการปลดหลักประกันดังกล่าวให้ด้วย ซึ่ง ธนาคาร DT จะได้รับค่าธรรมเนียมจากบริษัทฯ จำนวน 8,000 เหรียญสหรัฐ โดยหักจากเงินกู้ที่บริษัทฯ ได้รับจากเจ้าหนี้ 2. บริษัทฯ ขอหารือว่า 2.1 กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าธรรมเนียมในการจัดหาแหล่งเงินกู้ ถือเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับ ธนาคาร DK ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ 2.2 กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการจัดหาแหล่งเงินกู้ ถือเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ซึ่งผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 3 เตรส มาตรา 66 วรรคสอง มาตรา 77/2 มาตรา 80 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ธนาคาร D ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้ง ธนาคาร DT และ ธนาคาร DK ได้ให้บริการแก่บริษัทฯ โดย ธนาคาร DT ให้บริการดูแลหลักประกัน ส่วน ธนาคาร DK ให้บริการจัดหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งเป็นการแบ่งแยกหน้าที่กันให้บริการแก่บริษัทฯ และบริษัทฯ แยกชำระค่าบริการตามส่วนของการให้บริการนั้น เนื่องจากเงินได้จากการให้บริการกรณีดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรธุรกิจตามข้อ 7 แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และจากทุน (ความตกลงฯ) หาก ธนาคาร DT มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการจัดหาแหล่งเงินกู้ของ ธนาคาร DK จึงถือมิได้ว่า ธนาคาร DT มีการให้บริการจัดหาแหล่งเงินกู้ผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5 แห่งความตกลงฯ ดังนั้น ธนาคาร DT จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้เฉพาะในส่วนที่ได้ให้บริการในประเทศไทยมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 แห่งความตกลงฯ บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 เฉพาะในส่วนเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่ ธนาคาร DT 2 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) กรณี ธนาคาร DK ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ได้ให้บริการเป็นตัวแทนจัดหาแหล่งเงินกู้ให้กับบริษัทฯ โดยได้จัดหาให้ธนาคารในประเทศไทยและธนาคารที่ต่างประเทศมาให้บริษัทฯ กู้ยืม รวมทั้งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของธนาคารในประเทศไทยและธนาคารที่ต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทฯ และดูแลให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ของสัญญาสินเชื่อจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา หรือจนกระทั่งบริษัทฯ ชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้น ธนาคาร DK ยังให้บริการปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อการซื้อหุ้น UBC แก่บริษัทฯ ด้วย และบริษัทฯ ได้ชำระค่าบริการดังกล่าวแก่ ธนาคาร DK เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 6,663,100 เหรียญสหรัฐ การให้บริการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและมีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการให้กับ ธนาคาร DK บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบ ภ.พ.36 ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร (2) กรณี ธนาคาร DT ให้บริการเป็นตัวแทนหลักประกันแก่บริษัทฯ ในประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ในการจดจำนำหุ้น UBC เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้และดูแลรักษาหลักประกันเงินกู้ รวมทั้งดำเนินการปลดหลักประกันดังกล่าวด้วย เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ 0702/380 ลงวันที่ 04 กุมภาพันธ์ 2557 |