บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการปรับโครงสร้างกิจการ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการปรับโครงสร้างกิจการข้อเท็จจริงบริษัท A เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศประกอบกิจการผลิตสินค้า บริษัท A จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท B ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เพื่อจำหน่ายสินค้าดังกล่าว บริษัท A เป็นผู้ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 49 ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท B โดยบริษัท A ต้องการที่จะดำเนินการจำหน่ายสินค้าของบริษัทเองมาตั้งแต่เริ่มแรก แต่เนื่องจากบริษัท A เป็นนิติบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ได้กำหนดห้ามมิให้บริษัท A ทำการค้าปลีกและค้าส่งสินค้าที่มิได้ผลิตด้วยตนเอง ต่อมาประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ได้ถูกยกเลิก ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทจึงต้องการจะปรับโครงสร้างบริษัท โดยบริษัท B จะดำเนินการโอนพนักงานขายทั้งหมดไปเป็นลูกจ้างของบริษัท A และบริษัท A จะเป็น ผู้จำหน่ายสินค้าดังกล่าวเอง นอกจากนี้ บริษัท B จะให้บริษัท A เช่าทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจการขาย เช่น อาคารของศูนย์กระจายสินค้า รถยนต์ และคอมพิวเตอร์ที่ใช้บันทึกยอดขายของพนักงานขาย เป็นต้น โดยคิดค่าเช่าตามราคาตลาดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บริษัท A จึงขอทราบว่า การปรับโครงสร้างบริษัทดังกล่าวจะมีภาระภาษีอย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(1)(2) และมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. บริษัท A เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทย จึงเข้าลักษณะเป็น "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท A จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัท A ต้องนำรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตาม มาตรา 65 และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีการรับโอนพนักงานขายของบริษัท B ไปเป็นพนักงานของบริษัท A เมื่อบริษัท A จ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานขายซึ่งเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท A ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 50(1) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัท A มีสิทธินำรายจ่ายค่าจ้างพนักงานไปถือรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายนั้นได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัท A จ่ายค่าเช่าทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับบริษัท B บริษัท A มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ดังกล่าวและนำส่งกรมสรรพากรในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 6(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และบริษัท A มีสิทธินำรายจ่ายค่าเช่าทรัพย์สินไปถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายนั้นได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร 3. บริษัท A เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ภายหลังการปรับโครงสร้างกิจการ บริษัท A ยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/8708 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2549 |