บริษัทต่างประเทศที่ถือว่าเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินให้แก่ที่ปรึกษา
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินให้แก่ที่ปรึกษาข้อเท็จจริงกรม พ. ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการพัฒนาฝีมือแรงงานระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2546 โดยกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียส่วนหนึ่ง และใช้เงินงบประมาณสมทบเพื่อดำเนิน โครงการดังกล่าว ตามสัญญากู้เงินระหว่างธนาคารพัฒนาเอเชียและรัฐบาลไทย ระบุให้ผู้กู้จ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินโครงการ โดยถือข้อกำหนดในคู่มือการใช้ที่ปรึกษาของธนาคารพัฒนาเอเชียในการคัดเลือก ซึ่งในส่วนที่ 3 ของคู่มือการใช้ที่ปรึกษาได้กำหนดเรื่องการปลอดภาษีไว้ว่า ลูกค้าจะต้องขอความมั่นใจ จากรัฐบาลจะให้การยกเว้นในเรื่องภาษี อากร ค่าธรรมเนียมและเงินเรียกเก็บต่าง ๆ ตามกฎหมายที่ ใช้บังคับอยู่ในประเทศโครงการ สำหรับเงินที่ชำระให้แก่ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ทำสัญญาจ้างมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลสำนักงานธุรกิจต่างประเทศเป็นที่ปรึกษา โครงการ ซึ่งตามแผนงานที่ปรึกษาจะต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยตลอดอายุของ สัญญา เพื่อให้บริการเป็นที่ปรึกษาสำหรับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการพัฒนาฝีมือแรงงานตามสัญญา นอกจากนี้ ตามสัญญาจ้างบริการที่ปรึกษา ข้อ D.6 ระบุว่า ในเรื่องการจ่ายเงินให้แก่ที่ปรึกษา ที่ปรึกษา จะได้รับการยกเว้นภาษี อากร ค่าธรรมเนียม และการจัดเก็บภาษีที่จัดเก็บภายใต้กฎหมายและระเบียบ ของไทย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงหารือว่า การชำระเงินค่าที่ปรึกษาให้แก่มหาวิทยาลัยต่างประเทศ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามสัญญาจ้างบริการที่ปรึกษาได้หรือไม่ และต้องดำเนินการอย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 69 ทวิ, มาตรา 76 ทวิแนววินิจฉัยกรณีมหาวิทยาลัยต่างประเทศซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของต่างประเทศได้ทำสัญญา ให้บริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการพัฒนาฝีมือแรงงานกับกรมพัฒนาแรงงาน เงินได้ จากการให้บริการตามสัญญาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ตามข้อ 7 วรรคแปด แห่งอนุสัญญา ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและ การป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ เมื่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ส่ง บุคลากรเข้ามาให้บริการดังกล่าวในประเทศไทยตลอดอายุของสัญญาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 - 2546 จึง ถือว่ามหาวิทยาลัยต่างประเทศให้บริการโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาดังกล่าว มหาวิทยาลัยต่างประเทศจึงมีหน้าที่ต้องนำค่าบริการที่ปรึกษาตามสัญญาดังกล่าวมา เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญา ดังกล่าว เมื่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงานชำระเงินได้ค่าที่ปรึกษาให้แก่มหาวิทยาลัยต่างประเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดยกเว้นการเก็บภาษีแต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4023 ลงวันที่ 26 เมษายน 2547 |