Skip to Content

บริจาค ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าลดหย่อนเงินบริจาค

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าลดหย่อนเงินบริจาค


ข้อเท็จจริง

วัด ก. จัดตั้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และได้รับประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2527 จึงขอทราบว่า

1. บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคหรือถวายทรัพย์หรือสิ่งของให้แก่วัด ก. สามารถนำใบอนุโมทนาที่วัด ก. ออกให้ เป็นหลักฐานหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้หรือไม่ อย่างไร

2. วัด ก. เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ สามารถรับโอนครุภัณฑ์ และยานพาหนะจากส่วนราชการ ได้หรือไม่

3. กรณีส่วนราชการขายทอดตลาด วัด ก. สามารถซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในราคาประเมินขั้นต่ำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ได้หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่วัด ก. ถือเป็นการบริจาคให้แก่วัดวาอาราม ตามข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษาตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3(4)(ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ดังนั้น ผู้บริจาคมีสิทธินำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณ ภาษีเงินได้ ได้ดังนี้

(1) บุคคลธรรมดาบริจาคเงินให้แก่วัด ก. ผู้บริจาคมีสิทธินำเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้หักค่าลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังหักลดหย่อนตามมาตรา 47(1) ถึง (6) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว

(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่วัด ก. มีสิทธินำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีตาม 2. และ 3. วัด ก. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ถือเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2)ฯ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 สำหรับการรับโอนทรัพย์สินหรือซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดจากส่วนราชการมิใช่ปัญหาตามประมวลรัษฎากร ขอให้วัด ก. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6227 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)