Skip to Content

บริจาค ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าลดหย่อนเงินบริจาค

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าลดหย่อนเงินบริจาค


ข้อเท็จจริง

วัด ก. ได้รับประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นใน พระพุทธศาสนา ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2542 จึงขอทราบว่า

1. วัด ก. เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามประมวลรัษฎากร หรือไม่ และวัด ก. สามารถรับโอนครุภัณฑ์ ยานพาหนะ จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ได้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุหรือไม่

2. บุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ร่วมทำบุญสมทบทุนสามารถนำใบอนุโมทนาบัตรที่วัด ก. ออกให้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือเงินได้นิติบุคคล ได้หรือไม่

3. วัด ก. ขอรูปแบบตัวอย่างใบอนุโมทนาบัตรที่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประกาศกำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7) (ข)แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 105 ทวิ มาตรา 47(7)(ข) และมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. วัด ก. ถือเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลซึ่งกรมสรรพากรได้มีหนังสือ แจ้งให้วัด ก. ทราบไปแล้ว ส่วนกรณีการโอนทรัพย์สินดังกล่าว หากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุกำหนดให้หน่วยงานดังกล่าวมีสิทธิโอน วัด ก. ก็สามารถรับโอนได้

2. กรณีตาม 2. การบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ให้แก่วัด ก. ถือเป็นการบริจาคให้แก่วัดวาอาราม ตามข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และ สถานศึกษาตามมาตรา 47(7)(ข)แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ดังนั้น ผู้บริจาคมีสิทธินำเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้ ดังนี้

(1) บุคคลธรรมดาบริจาคเงินให้แก่วัด ก. ผู้บริจาคมีสิทธินำเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่วัด ก. มีสิทธินำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีตาม 3 ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มฯ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 มิได้มีการกำหนดตัวอย่างรูปแบบของใบอนุโมทนาบัตรไว้แต่อย่างไรก็ตามควรต้องมีข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ

(2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ

(3) เลขลำดับของเล่มและของใบรับ

(4) วัน เดือน ปีที่ออกใบรับ

(5) จำนวนเงินที่รับ

ทั้งนี้ ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4064 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)