Skip to Content

บริการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัท โรงแรมฯ ไม่นำค่าบริการ (Service charge) มาลงเป็นรายได้

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัท โรงแรมฯ ไม่นำค่าบริการ (Service charge) มาลงเป็นรายได้


ข้อเท็จจริง

1. สำนักงานฯ ได้หารือเกี่ยวกับเงินค่าบริการ (Service Charge) ซึ่ง สถานประกอบการที่ประกอบกิจการให้บริการ ได้แก่ กิจการโรงแรม เรียกเก็บค่าบริการ (Service Charge)จากลูกค้าในอัตราร้อยละของค่าห้องพัก ค่าอาหารและค่าบริการต่างๆ จากผู้ที่มาใช้บริการ พร้อมทั้งเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 7 และได้ออกใบเสร็จรับเงินจำนวนรวมให้กับลูกค้า สถานประกอบการได้นำค่าบริการ (Service Charge) ที่ได้รับมาแบ่งเฉลี่ยจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนในแต่ละเดือน โดยสำนักงานฯ มีความเห็นว่า ค่าบริการ (Service Charge) เป็นของนายจ้างที่จ่ายให้กับลูกจ้าง ต้องนำมาเป็นฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบเพื่อนำส่งสำนักงานฯ

2. บริษัท โรงแรมฯ ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนว่า ค่าบริการที่บริษัทฯ นำมาจ่ายให้แก่ลูกจ้างไม่ใช่ค่าจ้าง ไม่ต้องนำมารวมคำนวณ เงินสมทบ เนื่องจากค่าบริการ (Service charge) ดังกล่าว เป็นเงินที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้าแทนลูกจ้างไม่ใช่เงินรายได้ของบริษัทฯ จึงไม่นำค่าบริการ (Service charge) มาลงบัญชีเป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุน แต่นำไปลงบัญชี เงินค่าบริการค้างจ่าย ในหมวดหนี้สินหมุนเวียนอื่นในงบดุล

3. สำนักงานฯ หารือว่าการลงบัญชีของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 67 และมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

กรณีค่าบริการ (Service charge) ที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้าทุกราย ถือเป็นรายได้ของกิจการหรือเกี่ยวเนื่องจากกิจการตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ จะต้องบันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และการที่บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าบริการ (Service charge) ให้แก่ลูกจ้างของบริษัทฯ ไม่มีผลให้ฐานภาษีของบริษัทฯ ลดลงแต่อย่างใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/7983 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2557

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)