นักแสดงสาธารณะ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีโอนค่าจ้างศิลปินไปต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีโอนค่าจ้างศิลปินไปต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัทฯ ประกอบกิจการจัดการแสดงคอนเสิร์ตและโชว์จากต่างประเทศ และได้ว่าจ้างศิลปินกับบริษัทที่ศิลปินสังกัดโดยตรง และติดต่อศิลปินผ่านทางนายหน้า (Agency) จึงขอทราบว่า 1. กรณีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนักแสดงต่างประเทศ บริษัทฯ เป็นผู้ยื่นรายการและชำระภาษีในนามคณะบุคคล บริษัทฯ จะขอให้กรมสรรพากรออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นภาษาอังกฤษในนามของนักแสดงต่างประเทศแต่ละคนได้หรือไม่ 2. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้บริษัทต่างประเทศ ดังนี้ (1) บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัท R ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดให้มีการแสดงสเก็ตซ์น้ำแข็งดิสนีย์ออนไอซ์ ในประเทศไทย บริษัทฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 เนื่องจากเป็นการจ่ายค่าจ้างให้แก่ ผู้จัดให้มีการแสดง ที่เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย ใช่หรือไม่ (2) บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัท G ที่นักแสดงสังกัดอยู่ ซึ่งจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา และนำศิลปินในสังกัดมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทย บริษัทฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ใช่หรือไม่ และยื่นแบบแสดงรายการประเภทใด และนักแสดงต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร (3) บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทนายหน้าต่างประเทศซึ่งจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา ในการจัดหานักแสดงมาแสดง บริษัทฯ ต้องหักภาษีนำส่งโดยแยกเงินได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นค่าตอบแทนที่นักแสดงได้รับ บริษัทฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 และส่วนที่สอง เป็นเงินได้เฉพาะที่เป็นค่าตอบแทนที่บริษัทฯ ได้รับในการติดต่อจัดหานักแสดง ซึ่งในกรณีนี้มีอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ บริษัทฯ ไม่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่ ค่าตอบแทนทั้งสองส่วนถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด และต้องยื่นแบบแสดงรายการประเภทใด กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 76 ทวิ และมาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1. นักแสดงสาธารณะที่แสดงเป็นหมู่หรือคณะ ให้นำเงินได้อันเกิดจากการแสดงที่ได้รับทั้งสิ้น ไม่ว่าจะได้รับในนามของหมู่หรือคณะ หรือได้รับแยกเป็นรายบุคคล มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามคณะบุคคล ทั้งนี้ นักแสดงสาธารณะแต่ละคนไม่ต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีเป็นรายบุคคลอีกตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 102/2544ฯ ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2544 เมื่อบริษัทฯ ได้ยื่นรายการและชำระภาษีไว้แล้วตามหลักฐานใบเสร็จของกรมสรรพากรในนามคณะบุคคล กรมสรรพากรจึงไม่สามารถออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นภาษาอังกฤษของนักแสดงแต่ละบุคคลให้ได้ 2. กรณีตาม 2. (1) และ (2) บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้บริษัท R และบริษัท G ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะในประเทศไทย โดยมีลูกจ้าง ผู้ทำการแทนหรือผู้ติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย เป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ของเงินได้ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่หากบริษัท R และบริษัท G มิได้ให้บริการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวให้แก่ทั้งสองบริษัทดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 5 และข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และกรณีที่บริษัท R และบริษัท G เข้ามาดำเนินการเพื่อจัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการ "บริการ" ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ประกอบการในราชอาณาจักร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัท R และบริษัท G ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าบริการออกไปให้บริษัททั้งสอง บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีนักแสดงสาธารณะ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ได้เข้ามาแสดงในประเทศไทย และได้รับเงินได้จากการแสดง เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย นักแสดงสาธารณะนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับรวมทั้งประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร กรณีนักแสดงสาธารณะมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศนั้นๆ 3. กรณีตาม 2(3) บริษัทฯ จ่ายเงินได้ให้บริษัทต่างประเทศซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการติดต่อจัดหานักแสดงมาแสดง และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ที่ได้รับจากการติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงในประเทศไทย ทั้งนี้ เฉพาะเงินได้ที่เป็นค่าตอบแทนในการติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะเท่านั้น หากบริษัทต่างประเทศได้รับค่าตอบแทนรวมกับเงินได้ของนักแสดงสาธารณะอยู่ด้วย ให้หักเงินได้ของนักแสดงสาธารณะออกก่อน โดยบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ตามมาตรา 40 (2) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำส่งตามแบบ ภ.ง.ด. 54 ส่วนบริษัทต่างประเทศที่ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัทต่างประเทศนั้นจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามข้อ 5 และตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และเมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่นักแสดงสาธารณะที่มีภูมิลำเนาในต่างประเทศผ่านบริษัทต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของนักแสดงสาธารณะโดยคำนวณหักไว้ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 9 (2)(ก) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และนำส่งกรมสรรพากรโดยใช้แบบ ภ.ง.ด. 3 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6478 ลงวันที่ 02 สิงหาคม 2549 |