Skip to Content

ตัวแทนเพื่อขายสินค้า ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าให้กับห้างสรรพสินค้า

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าให้กับห้างสรรพสินค้า


ข้อเท็จจริง

สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้เข้าทำการตรวจสภาพกิจการ ราย บริษัท ส.เมื่อวันที่ 28

มีนาคม 2545 พบว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกายี่ห้อต่าง ๆ ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ

บริษัท S โดยวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งบริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีขายทันทีที่มีการ

ส่งมอบสินค้า แต่บริษัทฯ ยังไม่ถือว่าได้มีการจำหน่ายสินค้าแล้วจนกว่าห้างสรรพสินค้าจะขายสินค้าและ

ส่งมอบเงินตามที่ขายได้จริงจึงจะรับรู้เป็นรายได้ แต่ในทางปฏิบัติบริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้ในส่วนที่ได้

ออกใบกำกับภาษีขายให้กับห้างสรรพสินค้าแล้วทั้งจำนวน และจะสามารถลดยอดรายได้ในกรณีที่

ห้างสรรพสินค้ายังขายสินค้าไม่ได้โดยออกใบลดหนี้ให้กับห้างสรรพสินค้าตามประเพณีการค้าซึ่ง

ห้างสรรพสินค้าทั่วไปถือปฏิบัติ บริษัทฯ อ้างว่าห้างสรรพสินค้าไม่ยอมรับใบลดหนี้ของบริษัทฯ บริษัทฯ จึง

ลดยอดรายได้ลงโดยมิได้ออกใบลดหนี้ ในส่วนนี้ทำให้บริษัทฯ แสดงยอดรายได้ตามแบบแสดงรายการ

ภ.ง.ด.50 ของปี 2543 ต่ำกว่าแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เป็นจำนวน 34,287,863.70 บาท และ

สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้แจ้งให้ทราบว่า บริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้ส่วนต่างนี้เป็นรายได้ใน

แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 โดยให้หักต้นทุนขายในส่วนนี้ได้ ทำให้บริษัทฯ ต้องรับผิดและชำระภาษี

เพิ่มเติมตามจำนวนเงินที่ได้ยื่นรายได้ขาดดังกล่าว บริษัทฯ ไม่เห็นด้วยและชี้แจงว่า การขายสินค้าของ

บริษัทฯ เป็นการฝากขายสินค้า


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65, มาตรา 78(1), มาตรา 78(3), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8)ฯ

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัท ส. ได้นำสินค้าไปวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯ จะ

ออกใบกำกับภาษีขายทันทีที่มีการส่งมอบสินค้าพร้อมบันทึกบัญชีขายและบัญชีภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยบริษัทฯ

เจ้าของสินค้ามิได้ทำสัญญาแต่งตั้งห้างสรรพสินค้าเป็นตัวแทนเพื่อขายสินค้า ตาม

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534

ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 145)ฯ ลงวันที่ 11

ตุลาคม พ.ศ. 2545 ดังนั้น ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าของสินค้าจึงเกิดขึ้นเมื่อได้

ส่งมอบสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้าตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร

2. การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทฯ ให้ใช้เกณฑ์สิทธิโดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นใน

รอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ใน

รอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้นแม้จะยังมิได้จ่ายใน

รอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามมาตรา 65 แห่ง

ประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/2151 ลงวันที่ 04 มีนาคม 2546

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)