Skip to Content

ตัวแทนเชิด ภาษีเงินได้นิติบุคคล การประเมินภาษีอากรกรณีตัวแทนเชิด

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล การประเมินภาษีอากรกรณีตัวแทนเชิด


ข้อเท็จจริง

บริษัท ก. ตั้งอยู่เลขที่... จังหวัดน่าน เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมคือ นาง ง.

ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ ....ตำบล...อำเภอ... จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2536 ให้แก่นาย จ. และนาย จ. ได้มาแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยรวม 26 แปลง และขายไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 ให้แก่ผู้ซื้อรวม 28 ราย และผู้ซื้อดังกล่าวเป็นกรณีที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และบางรายอ้างว่าถูกยืมชื่อเป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ซึ่งในการซื้อขายที่ดินดังกล่าว นาย จ. เจ้าของที่ดินผู้ขายได้มอบอำนาจให้ น.ส.ข. เป็นตัวแทนในการขายที่ดินดังกล่าว และนาง ฉ. กับพวก รวม 28 คน ได้มอบอำนาจให้ น.ส.ข. เป็นตัวแทนในการซื้อที่ดินดังกล่าว หลังจากนั้นผู้ซื้อที่ดินจำนวน 13 ราย ได้มอบอำนาจให้กับ น.ส.ข. และ น.ส.ค. ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทฯ ดำเนินการขายที่ดินแก่ผู้ซื้อรายใหม่ และจากพยานเอกสารผู้ซื้อรายใหม่จำนวน 4 ราย กล่าวอ้างว่าในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินจำนวน 4 แปลง เป็นการทำสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างบริษัทฯ กับผู้ซื้อรายใหม่และจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาซื้อขายที่ดินที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่กรมที่ดิน มีจำนวนน้อยกว่าที่มีการซื้อขายจริง รวมทั้งผู้รับผลประโยชน์จากการขายที่ดิน

ก็เป็น น.ส.ข. และ น.ส.ค. ซึ่งทั้งสองเป็นพนักงานของบริษัทฯ และน่าจะเป็นการกระทำการในนามของบริษัทฯ สำนักงานสรรพากรพื้นที่น่านจึงเห็นว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเข้าลักษณะที่เป็นตัวแทนเชิด ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.1626/2532 เรื่อง การพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนเชิด ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 และหารือว่าจะประเมินภาษีอากรบริษัทฯ ในฐานะตัวการหรือบุคคลผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญ


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 807 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แนววินิจฉัย

1.กรมสรรพากรได้วางแนวทางการพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนเชิดตาม

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.1626/2532ฯ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 โดยกำหนดว่าตัวแทนเชิดควรเป็นบุคคลมีลักษณะอย่างไร และแนวทางการสันนิษฐานการเป็นตัวแทนเชิดหรือไม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางพิจารณาการตรวจสอบภาษีอากร

2.แนวทางการตรวจสอบตัวแทนเชิด มีแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการหาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวแทนเชิด เพื่อให้ทราบว่าใครเป็นตัวการ และเมื่อได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ก็ให้ออกหมายเรียกตัวการมาตรวจสอบ และทำการประเมินภาษีอากรหาตัวแทนเชิดหรือตัวการตามหนังสือที่ กค 0802(กม.)/2404 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2537 โดยให้ดำเนินการดังนี้

2.1กรณีมีเอกสารหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเป็นตัวการให้ประเมินตัวการได้ ทั้งนี้ ความเป็นตัวแทนจะโดยแต่งตั้งแสดงออกชัด หรือโดยปริยายก็ย่อมได้ตามมาตรา 797 วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงว่าได้มีการตั้งตัวแทนหรือมีการเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งแสดงออกแทนตนหรือไม่ ซึ่งหากกรมสรรพากรมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการตั้ง

ตัวแทนหรือเป็นการเชิดบุคคลอื่นให้ทำการแทนตนแล้ว ตัวการซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลหรือเชิดบุคคลอื่นนั้น จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนของตน โดยเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาประเมินภาษีอากรตัวการได้ตามมาตรา 821 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามคำพิพากษาฎีกาที่ 5343/2542 และคำพิพากษาฎีกาที่ 2751/2541

2.2กรณีไม่มีพยานหลักฐานหรือพยานอื่นมาพิสูจน์ได้ ให้ประเมินภาษีอากรจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญ ซึ่งในทางปฏิบัติตัวแทนเชิดจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการกระทำแทนหรือเป็นผู้ที่ถูก

ผู้อื่นเชิดให้เป็นตัวแทน ดังนั้น หากไม่มีหลักฐานหรือพยานอื่นมาพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัย หรือ

มีหลักฐาน และพยานอื่น ๆ แต่ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นตัวแทนเชิด กรณีดังกล่าวเจ้าพนักงานประเมินต้องประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญ และหรือได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร

ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงบริษัทฯ มีนาย ก. เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยมี น.ส.ข. และ น.ส.ค. เป็นพนักงานของบริษัทฯ ซึ่ง น.ส.ข. ได้รับมอบอำนาจจากผู้ซื้อที่ดินจำนวน28 ราย ให้ซื้อที่ดินจาก

นาย จ. เจ้าของที่ดินเดิม และรับมอบอำนาจให้แยกโฉนดรวมเป็นแปลง ๆ จำนวน 28 แปลง โดยมีชื่อของผู้มอบอำนาจจำนวน 28 ราย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และต่อมามีการขายที่ดินบางแปลงให้แก่บุคคลอื่นโดยมี น.ส.ข. และ น.ส.ค. เป็นผู้รับมอบอำนาจในการขายที่ดินและดำเนินการเกี่ยวกับการจำนองที่ดินต่อธนาคารเพื่อค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งจากพยานเอกสารของกรมที่ดินและคำให้การที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ละแปลงให้การไว้กับสถานีตำรวจภูธรจังหวัดน่านก็ไม่เป็นที่แน่ชัด โดยปราศจากข้อสงสัยว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจของเจ้าของที่ดินจำนวน 28 ราย ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินแต่ละแปลงเป็นลายมือชื่อปลอม ซึ่งเมื่อเป็นกรณีที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นลายมือชื่อปลอม หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงถือเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้น การดำเนินการของผู้รับมอบอำนาจ (น.ส.ข. และ น.ส.ค.) จึงถือว่ากระทำในนามของผู้มอบอำนาจเท่านั้น และการรับผลประโยชน์จากการขายที่ดินหรือเงินกู้จากธนาคารซึ่งมีที่ดินของผู้มอบอำนาจค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว จึงเป็นเพียงการกระทำการหรือรับมอบผลประโยชน์ไว้แทน ผู้มอบอำนาจเท่านั้นตามมาตรา 807 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบางแปลงก็เป็นการซื้อมาเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้มอบอำนาจจริง นอกจากนี้เงินได้จากการขายที่ดินที่ผู้มอบอำนาจกล่าวอ้างว่าน.ส.ข. เป็นผู้รับประโยชน์ก็มิได้มีพยานหลักฐานหรือเอกสารอื่นที่จะพิสูจน์ได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า น.ส.ข. หรือ น.ส.ค. เป็นผู้รับผลประโยชน์เอง กรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ไม่มีเอกสารหลักฐานหรือพยานอื่นมาพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยหรือมีพยานหลักฐานหรือเอกสารใด ๆ แต่ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นตัวแทนเชิดและตัวการ (บริษัท บ้านสันติภาพ จำกัด) ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินต้องทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินซึ่งมีชื่อในหนังสือสำคัญหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ละแปลง ตามมาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/5720 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2548

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)