ดอกเบี้ย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แก่สถาบันการเงินที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แก่สถาบันการเงินที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดข้อเท็จจริงบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ได้รับโอนสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนและ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ (“สถาบันการเงิน”) จากการประมูลขายของ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดย บบส. ได้ชำระราคาสินทรัพย์ดังกล่าวด้วย การออกตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดมีดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงิน ซึ่งการชำระดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังกล่าว บบส. ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้ง เพื่อนำส่งต่อกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร แต่ เนื่องจากสถาบันการเงินหลายรายได้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและกรมบังคับคดีได้แจ้งต่อ บบส. เพื่อขอให้ระงับการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยที่ บบส. ต้องชำระให้แก่ สถาบันการเงินที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บบส. จึงขอทราบว่า บบส. มีหน้าที่ต้องหักภาษีณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยจ่ายหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(4)(ก)แนววินิจฉัยเนื่องจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินเป็นนิติบุคคล จัดตั้งโดยพระราชกำหนด บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด บบส. จึง มีฐานะเป็น “องค์การของรัฐบาล” ตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อ บบส. เป็น ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นดอกเบี้ยตั๋วเงินให้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บบส. จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตาม มาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/31990 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2543 |