Skip to Content

ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเรียกเก็บเงินมัดจำการให้บริการโทรศัพท์

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเรียกเก็บเงินมัดจำการให้บริการโทรศัพท์


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ขอหารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเรียกเก็บเงิน

ประกันการเช่า ดังนี้

1. กรณีบริษัทฯ ผู้ให้เช่าตกลงให้บริการโทรศัพท์สายตรงแก่ลูกค้า โดยผู้เช่าเป็นผู้ชำระค่า

โทรศัพท์เอง และมีการเรียกเก็บเงินมัดจำโทรศัพท์กับผู้เช่าเพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้เช่าไม่มีภาระ

ติดค้างค่าโทรศัพท์และจะคืนให้เมื่อเลิกสัญญาหรือเลิกใช้โทรศัพท์ เงินมัดจำโทรศัพท์ที่เรียกเก็บนี้จะถือ

เป็นค่าบริการรับล่วงหน้าเหมือนเงินประกันบริการหรือไม่ และถือเป็นรายได้ที่บริษัทฯ ต้องนำไปรวม

คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยใช่หรือไม่ ถ้าต้องรวมคำนวณการรับรู้รายได้จะรับรู้อย่างไร

2. กรณีบริษัทฯ ผู้ให้เช่าดำเนินการขอโทรศัพท์จากองค์การโทรศัพท์ โดยผ่านบริษัท เทเล

คอมเอเชียจำกัด เพื่อนำมาใช้ในส่วนของกิจการเอง และเพื่อให้บริการสายตรงแก่ลูกค้าด้วย

องค์การโทรศัพท์จะเรียกเก็บเงินมัดจำโทรศัพท์หมายเลขละ 3,000 บาท และจะคืนให้เมื่อเลิกสัญญา

หรือเลิกใช้โทรศัพท์ เงินมัดจำโทรศัพท์ที่บริษัทฯ จ่ายให้องค์การโทรศัพท์ บริษัทฯ จะลงเป็นรายจ่ายได้

หรือไม่ ถ้าได้จะลงอย่างไร ลงเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน หรือทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่าย เพราะอายุการใช้

โทรศัพท์ไม่สามารถระบุได้


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 78/1, มาตรา 79, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541ฯ

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. เงินมัดจำโทรศัพท์ที่บริษัทฯ ผู้ให้เช่าเรียกเก็บจากลูกค้าผู้เช่าเพื่อเป็น

หลักประกันดังกล่าว และไม่ว่าผู้เช่าจะเป็นผู้ชำระค่าโทรศัพท์ให้องค์การโทรศัพท์เองหรือไม่ก็ตาม ถือ

เป็นค่าบริการรับล่วงหน้า ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี

ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในขณะได้รับ

ชำระเงินดังกล่าว ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (3)(ข) แห่ง

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการ

เรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำหรือเงินจอง ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2541 ซึ่ง

แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541 ฯ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2541

สำหรับการคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หากเป็นการให้บริการตามสัญญา

ระยะยาวและมีการเรียกเก็บเงินมัดจำในลักษณะเป็นเงินก้อนเพื่อเป็นหลักประกันการให้บริการโทรศัพท์

บริษัทฯ จะต้องนำเงินมัดจำดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มให้บริการหรือ

จะนำรายได้นั้นมาเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีตามสัญญา แต่ไม่เกินสิบปี และนำมารวมคำนวณเป็นรายได้

ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่ปีที่เริ่มให้บริการก็ได้ ตามข้อ 2 (1) (ก) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร

ดังกล่าว

2. กรณีตาม 2. เงินมัดจำโทรศัพท์ที่องค์การโทรศัพท์ฯ เรียกเก็บหมายเลขละ 3,000

บาท ไม่ถือเป็นรายได้ที่เรียกเก็บในลักษณะเป็นเงินก้อนเพื่อตอบแทนการให้บริการ ตามข้อ 2 (1) (ก)

แห่งคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว เงินมัดจำจำนวน 3,000 บาทข้างต้น จึงไม่ถือเป็นรายได้ในการ

เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ให้บริการกรณีที่ผู้ให้บริการต้องเสียภาษีเงินได้ (กรณีนี้องค์การโทรศัพท์

ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้)

ดังนั้น บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินมัดจำดังกล่าวจึงไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ

กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/13252 ลงวันที่ 09 กันยายน 2541

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)