จ้างทำของ ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีค่าจ้างทำของ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีค่าจ้างทำของข้อเท็จจริงบริษัทฯ ประกอบกิจการสถานพยาบาลและได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการสถานพยาบาล ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการเป็นเวลา 5 ปี นับแต่ วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ ซึ่งบริษัทฯ เปิดดำเนินกิจการสถานพยาบาลเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2538 บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายว่า 1. เมื่อบริษัทหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ชำระค่าบริการทางการแพทย์หรือค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ให้แก่โรงพยาบาลฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ 2. หากต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามข้อ 1. ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2543 โดยชำระหลังจากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2543 จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ ทั้งนี้ โรงพยาบาลฯ บันทึกรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 3 เตรส, มาตรา 40(8)แนววินิจฉัย1. การรักษาพยาบาลเข้าลักษณะเป็นสัญญารับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผู้รับจ้างรับที่จะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ค่ารักษาพยาบาลจึง เป็นค่าจ้างทำของถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจะต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 กรณีตามข้อเท็จจริง เมื่อบริษัทฯ มีเงินได้พึงประเมินจาก การประกอบกิจการสถานพยาบาลตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการดังกล่าว บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ กำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ดังนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นจ่าย ค่ารักษาพยาบาลให้แก่บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ บริษัทฯ ได้รับสิทธิและประโยชน์ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริมที่บริษัทฯ ได้รับโดยบริษัทฯ ต้องถ่ายสำเนาบัตรส่งเสริมให้ผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล เพื่อแสดงว่าบริษัทฯ ได้รับสิทธิ และประโยชน์ในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการประกอบกิจการดังกล่าวด้วย 2. หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ได้ใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และ รายจ่าย และบริษัทฯ มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลภายในกำหนดเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน นับแต่วันที่ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมนั้น ซึ่งจะถือได้ว่าบริษัทฯ มีเงินได้พึงประเมิน จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมภายในกำหนดเวลาที่ได้รับการส่งเสริมและได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมนั้นตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ดังนั้น แม้จะมีการชำระเงินค่าบริการเมื่อพ้น กำหนดเวลาที่ได้รับการส่งเสริม ผู้จ่ายเงินก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811(กม.03)/1811 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 |