จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินได้จากการให้บริการทางวิศวกรรมทั่วไป
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินได้จากการให้บริการทางวิศวกรรมทั่วไปข้อเท็จจริงบริษัท U เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเยอรมันและไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ประกอบธุรกิจหลักในการบริการทางวิศวกรรมในการสร้างโรงงาน โดยให้บริการครบวงจรแก่ลูกค้า ตั้งแต่การออกแบบ เขียนแบบ ไปจนกระทั่งส่งมอบโรงงานที่สร้างเสร็จแล้วให้แก่ลูกค้า ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเข้าทำสัญญาให้บริการงานวิศวกรรมโรงงานทั่วไปในการก่อสร้างโรงงานเคมี ให้แก่ บริษัท T ในประเทศไทย โดยมีการระบุในสัญญาอย่างชัดเจนว่า U จะให้บริการงานวิศวกรรมทั่วไป ส่วนบริษัท AT ซึ่งจดทะเบียนในประเทศเยอรมัน และเป็นผู้รับเหมาช่วงของ U จะให้บริการงานวิศวกรรมทางด้านเทคนิค โดยกรรมสิทธิ์ และสิทธิทางเทคนิคต่าง ๆ ที่จัดทำโดย AT จะตกเป็นของ U และจะ Sublicense ให้แก่ T ต่อไป โดย U และ T จะมีการทำสัญญาให้ใช้สิทธิแยกต่างหากจากสัญญาบริการงานวิศวกรรมทั่วไป โดย Uhde เข้าใจว่า ค่าตอบแทนจากการให้ใช้สิทธิซึ่งจ่ายโดย T ตามสัญญาดังกล่าวจะต้องถูกหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ตามค่าตอบแทนจากการให้ใช้สิทธินั้นไม่เกี่ยวข้องกับค่าบริการภายใต้สัญญาบริการงานวิศวกรรมทั่วไป U เข้าใจว่าการให้บริการดังกล่าวเป็นการให้บริการทางวิศวกรรมแบบทั่วไป มิได้เป็นการถ่ายถอดข้อสนเทศหรือให้สิทธิในการใช้ข้อสนเทศใด ๆ แก่ T อีกทั้งการจ่ายเงินในกรณีนี้เป็นการจ่ายเงินตามผลของงานที่ส่งมอบ มิใช่จ่ายตามการใช้ประโยชน์อื่น ๆ และเป็นการจ่ายค่าบริการมิใช่ค่าสิทธิ ดังนั้น เงินได้จากการให้บริการข้างต้น ควรถือเป็นเงินได้จากกำไรธุรกิจ U ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยสำหรับค่าตอบแทนที่ได้รับ ทั้งนี้ ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลประเทศเยอรมันนี เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ เมื่อ T จ่ายเงินได้ให้กับ U จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(3) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยU ประกอบธุรกิจการให้บริการทางวิศวกรรมในการสร้างโรงงานและเป็นการให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ เขียนแบบ ไปจนกระทั่งส่งมอบโรงงานที่สร้างเสร็จแล้วให้แก่ลูกค้า กรณี U ได้ทำสัญญาให้บริการงานวิศวกรรมทางด้านเทคนิค ซึ่งถือเป็นค่าสิทธิพร้อมทั้งให้บริการงานวิศวกรรมทั่วไป โดยสิทธิทางด้านเทคนิคจะตกอยู่กับ T ผู้ว่าจ้าง ดังนั้น การให้บริการงานวิศวกรรมทั่วไปจึงเป็นการให้บริการอันเนื่องมาจากมีการถ่ายโอนความรู้ทางงานวิศวกรรมทางด้านเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นสูตรลับ กรรมวิธี หรือข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นค่าตอบแทนจากการให้ใช้สิทธิเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อ T จ่ายเงินให้กับ U จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4659 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 |